ผู้คนจำนวนไม่น้อย พอนึกถึงภาพของสังคมสารสนเทศก็จะเห็นภาพของเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ ไมโครชิพ โทรศัพท์มือถือ เครื่องรับส่งเอกสาร และเครื่องควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อีกสารพัด
นับตั้งแต่คลื่นคอนดราทีฟลูกที่หนึ่งถึงลูกที่สี่ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคมอุตสาหกรรมคือการมุ่งค้นหาวัตถุดิบเพื่อนำมาแปรรูป สร้างสายพานลำเลียง ถนนหนทาง และเส้นทางการไหลลื่นของพลังงานให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด
การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมอุตสาหกรรมจะวางจุดเน้นหนักที่การผลิตเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการผลิตสินค้าทั้งวัตถุและวัสดุภัณฑ์
ส่วนสังคมสารสนเทศเป็นสังคมที่เน้นการค้นหาและนำสิ่งที่ปรากฏเชิงสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประสิทธิผล เช่น ข่าวสารข้อมูล ถ้อยคำภาษา แฟ้มภาพ ดนตรี ความรู้ ความคิด ความสัมพันธ์ และยุทธศาสตร์
หากลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสังคมอุตสาหกรรมและสังคมสารสนเทศ จะเห็นภาพวิวัฒนาการของสังคมทั้งสองแตกต่างกัน
สังคมอุตสาหกรรมวางเข็มทิศไปที่การพัฒนาโครงสร้างการขนถ่ายสินค้า การลำเลียงวัตถุดิบและพลังงานให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด เช่น โรงงานถลุงเหล็กต้องสร้างอู่ไว้ใกล้ๆ กับแหล่งพลังงาน (ถ่านหิน) เพื่อให้การขนส่งวัตถุดิบมีระยะทางที่สั้นที่สุด โรงงานเคมีตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพื่อลดต้นทุนให้ต่ำ
ในสังคมสารสนเทศ คุณลักษณะดังกล่าวไม่มีความหมายอีกต่อไป ด้วยธุรกิจสารสนเทศไม่สนใจเส้นทางการขนส่งวัตถุดิบและพลังงาน แต่สนใจ “ความใกล้ชิด” กับลูกค้าทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสัมพันธ์หรือการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลให้กระชับแน่นแฟ้นที่สุด
ดังนั้น ปัจจัยชี้ขาดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมจึงอยู่ที่ความสามารถในการจัดการสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์
คุณสมบัติสำคัญที่จะขาดเสียมิได้คือ ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ความสามารถในการคิดเชิงระบบ และความสามารถในการสื่อสาร รวมทั้งการรักษาสัมพันธภาพ แน่นอน สังคมสารสนเทศต้องมีการผลิตวัตถุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการทางกายภาพของมนุษย์ ถึงกระนั้น ความต้องการทางด้านจิตใจ จิตวิทยา และระบบนิเวศน์ก็มีความหมายความสำคัญเด่นชัดขึ้นกว่าเดิม
เนฟิโอดอฟ (Nefiodof) ผู้เขียนหนังสือ “คลื่นคอนดราทีฟลูกที่ห้า” สรุปว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางแห่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (heart of structural changes) เพราะมนุษย์คือผู้ผลิตสาร ผู้นำพาสาร ผู้เชื่อมประสาน ผู้นำข้อมูลข่าวสารไปใช้ประโยชน์ และท้ายสุด มนุษย์คือผู้บริโภคข่าวสารที่ตนผลิต นำพา และเชื่อมประสานนั้นด้วย
ถึงตรงนี้ เราน่าจะสรุปได้ว่า “ความเจริญก้าวหน้า” ในแบบของเศรษฐกิจสารสนเทศน่าจะอยู่ที่ความเจริญก้าวหน้าของ “ความเป็นมนุษย์” พูดอีกแบบคือ ความรุ่งเรืองของสังคมสารสนเทศขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ผู้มีพลวัตไม่จำกัด (infinite potential)
การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน กว่าดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจของประเทศจะเคลื่อนขึ้นได้สักหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมก็ล้วนต้องเข้ามามีบทบาทมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป
ผลิตภัณฑ์และสถาบันทางเศรษฐกิจที่เห็นและจับต้องได้ อาทิ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องจักร โรงงาน การโฆษณา โรงแรม สำนักงาน ธนาคาร และการมีงานทำ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดโรงเรียน มหาวิทยาลัย การวิจัยของภาครัฐ ระบบศาลยุติธรรม ข้าราชการตำรวจ โรงละครและภาพยนตร์ สนามกีฬา สวนสาธารณะ รัฐสภา กฎหมาย วัด มัสยิด โบสถ์ วรรณกรรม ศีลธรรม และความร่วมมือร่วมใจกันของชุมชน
ถ้าเราพิจารณาแบบองค์รวมจะเห็นว่า หากองค์ประกอบดังกล่าวไม่เกื้อหนุนกัน เศรษฐกิจที่ทันสมัยย่อมไม่คืบหน้า
คลื่นยาวเศรษฐกิจคอนดราทีฟให้ความสำคัญต่อการพึ่งพิงอิงกัน เกื้อกูลกันระหว่างเศรษฐกิจและสังคม เมื่อใดก็ตามที่ภาคสังคมเกิดความขัดแย้งกับภาคเศรษฐกิจ นั่นคือ วัฒนธรรมและจารีตประเพณี ความเชื่อ ความรู้สึก และคุณค่าที่ยึดถือ ก่อตัวเป็นพลังด้านลบ ความไม่เชื่อถือกันย่อมปรากฏ อาจรุนแรงถึงขั้นประท้วงคัดค้าน เดินขบวนนัดหยุดงาน พลังขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจย่อมชะงักงัน
ความตึงเครียดระหว่างภาคเศรษฐกิจและสังคมมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากคลื่นเศรษฐกิจลูกหนึ่งไปยังคลื่นอีกลูกหนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะในช่วงการก่อตัวของคลื่นยาว ผู้คนโดยมากมักไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับมือกับสิ่งใหม่ๆ ต้นแบบใหม่ๆ ที่มีความสลับซับซ้อนกว่าแบบเดิม ขณะที่คนจำนวนมากยังคงยึดติดกับความคิดของคลื่นลูกเก่าอยู่ ซึ่งเป็นความคิดที่รับมือกับการเรียกร้องและความท้าทายของคลื่นนวัตกรรมใหม่ไม่ได้
ลองหันมาทบทวนสังคมไทย โดยดูจากภาพที่ 1 และภาพที่ 2 ถ้าเราใช้แนวคิดของอัลวิน ทอฟเลอร์ (Alvin Toffler) มาพิจารณาจะพบว่า สังคมไทยมีคลื่นอารยธรรมสามลูกปะปนกันคือ คลื่นเกษตรกรรม มีคนชนบทเป็นตัวแทน คลื่นอุตสาหกรรม มีชาวเมืองเป็นตัวแทน และคลื่นหลังอุตสาหกรรมหรือสารสนเทศ มีชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เป็นตัวแทน
ถึงวันนี้ เราได้ประจักษ์เหตุการณ์สำคัญๆ 2 เหตุการณ์ที่สะท้อนความขัดแย้งอย่างรุนแรงของสองคลื่นอารยธรรมในประเทศไทยมาแล้ว นั่นคือ การชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อประท้วงและขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีกลุ่มชนชั้นกลางเป็นแก่นแกนนำการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 หรือที่เรียกว่า “ม็อบมือถือ” (smart mobs) ที่นาย Howard Rheingold เป็นผู้เรียก
เราจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ทางการเมือง “สองนคราประชาธิปไตย” ที่ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์พูดถึงนั้น แยกไม่ออกจากคลื่นคอนดราทีฟ และนี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุขั้นพื้นฐานที่ “คนชนบทเลือกรัฐบาล แต่คนกรุงเทพล้มรัฐบาล”
เดือนเมษายน 2550 อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนระอุไม่แพ้อากาศที่เราหายใจ สังคมปรากฏความขัดแย้งหลากเรื่องและหลายพื้นที่ ตั้งแต่ข่าวกรณีนายแพทย์ประกิตเผ่า ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม่น้ำเจ้าพระยาเน่าเสีย ภัยแล้ง ปัญหาหมอกควันปกคลุมหลายพื้นที่ในภาคเหนือ กระบวนการตรวจสอบการคอรัปชั่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และการยุบพรรคการเมือง ตลอดจนการร่างรัฐธรรมนูญ
พลังงานสังคมมักถูกจูงไปสู่ด้านลบหรือการขยายตัวของความขัดแย้ง ปัญหาเหล่านี้มีกี่มิติ? รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ใด? โครงสร้างของความขัดแย้งมีกี่ระดับและกี่ระบบ? ถ้าผู้นำในภาคต่างๆ ของสังคมไทยไม่ร่วมกันครุ่นคิดและใช้ปัญญาจากฐานคิดหรือกระบวนทัศน์และโลกทัศน์ใหม่ๆ แล้ว วิกฤติลูกใหม่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยากที่จะหลบเลี่ยงไปได้
เราต้องสนใจเรื่องช่วงเปลี่ยนผ่านของคลื่นเศรษฐกิจคอนดราทีฟให้ดี การอยู่ปะปนกันของสามคลื่นอารยธรรมของอัลวิน ทอฟเลอร์ หรือคลื่นยาวเศรษฐกิจก่อนอุตสาหกรรม และคลื่นคอนดราทีฟทั้งห้าลูกปนเปกันไปในสังคมไทย ได้สร้างทั้งด้านดีและร้ายไปพร้อมๆ กัน
โลกที่เศรษฐกิจสารสนเทศให้ความสำคัญต่อคุณภาพของมนุษย์ และประเด็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวของมนุษย์กำลังมาแรง ทว่าวิธีคิดของสังคมอุตสาหรรมเครื่องจักรไอน้ำของนายทุนยังคงล้าหลังและเห็นแก่ได้กำลังสร้างปัญหาให้แก่สังคมไทยอย่างหนักหน่วง โดยที่ตัวเขาเองก็ยังไม่เฉลียวใจ
ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นรากฐานเบื้องต้นของการดำรงชีวิตที่สุขกายและสุขใจ นายทุนอุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีโลกทัศน์และกระบวนทัศน์ที่อยู่ในคลื่นคอนดราทีฟลูกที่หนึ่งถึงลูกที่สามอยู่เลย
ถ้าถามว่ามีประเทศใดบ้างที่คลื่นเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสารสนเทศอยู่ด้วยกันได้โดยมีปัญหาน้อยมาก เราจะเห็นได้จากประเทศออสเตรีย นอร์เวย์ เนเธอแลนด์หรือฮอลแลนด์ เยอรมนี และอิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และออสเตรเลีย
ณ ตรงช่วงเปลี่ยนผ่านของคลื่นคอนดราทีฟรัฐและธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนของสังคม จำต้องมีการวางกฎกติกาและการปฏิบัติของธรรมาภิบาล ให้ทุกภาคส่วนไม่ขัดแย้งกัน ต้องเสริมและเกื้อหนุนกัน
ธุรกิจสารสนเทศต้องส่งเสริมให้ชนบทได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจการเกษตร การผลิตทางอุตสาหกรรมก็ไม่เบียดเบียนรากฐานชีวิตของชาวบ้านที่ต้องอยู่กับธรรมชาติ และธุรกิจท่องเที่ยวก็ย่อมได้ประโยชน์จากชายทะเลที่สะอาด และเมืองปราศจากมลพิษ ในโลกสารสนเทศนั้นจริยธรรมของผู้ประกอบการจะเป็นกุญแจสำคัญในขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและความสร้างสรรค์เป็นหัวใจ
Column: Inner Management | Story: ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ | media4joy@hotmail.com | สนับสนุนโดยกลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com | และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล