(1) จุดเริ่มต้นของยุคแสงสว่างแห่งปัญญา
ขณะที่มองดูประติมากรรม เดวิด ผมก็นึกถึงบริบททางสังคมที่ก่อกำเนิดประติมากรรมชิ้นเอกนี้ แล้วเกิดคำถามว่า ไมเคิล แองเจโล ต้องการสื่ออะไรผ่านรูปสลักเดวิด ?
ผมไปเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีอยู่หลายครั้ง ทุกครั้งผมจะแวะไปยืนดูรูปสลัก David จำลอง (แต่เหมือนตัวจริงที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์มากๆ) อันเป็นผลงานของไมเคิล แองเจโล อัครศิลปินยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) ร่วมสมัยกับดาร์วินชี่ ผู้วาดภาพโมนาลิซ่า และ มาเคียเวลลี่ ผู้ประพันธ์ The Prince ที่เป็นปรัชญาและวิถี การเมืองแบบอำนาจสุดๆ
ขณะที่มองดูประติมากรรมเดวิด ผมก็นึกถึงบริบททางสังคมที่ก่อกำเนิดประติมากรรมชิ้นเอกนี้ แล้วเกิดคำถามว่า ไมเคิล แองเจโล ต้องการสื่ออะไรผ่านรูปสลักเดวิด?
เมืองฟลอเรนซ์เป็นจุดเริ่มต้นของยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) หรือที่นักวิชาการไทยแปลว่า ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (ค.ศ.1450-1600 ตรงกับช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง ราว พ.ศ. 1993-2093) เป็นยุคสมัยแห่งการบุกเบิกความรู้และความเจริญรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรม เป็นยุคแห่งการค้นพบโลกใหม่ อย่างที่โคลัมบัส เดินทางไปพบทวีปอเมริกาหรือ วาสโก้ เดอกามา แล่นเรืออ้อมแหลมกู้ดโฮป ทวีปแอฟริกา เพื่อบุกเบิกเส้นทางการค้าเครื่องเทศและสินค้าจากเอเชีย
ก่อนหน้ายุคศิลปวิทยาการ เป็นยุคที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า ยุคมืด (Dark Age) ศาสนจักรมีอำนาจมาก ออกกฎหมายระเบียบทางสังคม มิให้ออกนอกกรอบแห่งศรัทธาตามคำบัญชาของคาร์ดินัลและผู้กุมอำนาจแห่งศาสนา ครั้นโคเปอร์นิคัส กล้าโต้แย้งคำสอนด้วยหลักคณิตศาสตร์ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์และโลกกลม ก็ได้จุดประกายความกระหายใคร่รู้ ใคร่ครวญถึงคำถาม และใฝ่ฝันของมนุษย์ที่ปรารถนาจะสร้างสังคมใหม่ที่งดงามน่าอยู่ นำไปสู่การค้นพบโลกใหม่โดยโคลัมบัส เกิดนักปราชญ์ นักประดิษฐ์
นักวิทยาศาสตร์ และนักคิดและสร้างสรรค์ ด้านต่างๆ อาทิ กาลิเลโอ, ฮอบส์, เดกาสต์, ล็อค, เลย์นิซ และ ไอแสค นิวตัน ผู้ค้นพบทฤษฏีโน้มถ่วงและบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ ผู้ปูรากฐานวิทยาศาสตร์ที่สรรพสิ่งทั้งหลายเดิน ไปตามเหตุตามผล ดุจดั่งกลไกนาฬิกา อันนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไอน้ำเป็นปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.0 ในเวลาต่อมา
ยุคเรอเนสซองส์ นับเป็นห้วงเวลาแห่งการเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ครั้งที่ 1 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ยุคแสงสว่างแห่ง ปัญญา (Enlightenment)
(2) คนเล็กล้มยักษ์
เรื่องมีอยู่ว่า เดวิดเป็นเด็กหนุ่มเลี้ยงแกะ ที่มีเครื่องมือและความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว ที่ต้องไปต่อสู้กับนักรบร่างยักษ์อย่างโกไลแอธ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร
ไมเคิล แองเจโล สลักหินให้เป็นรูปเดวิดได้มีชีวิตชีวามาก เห็นกล้ามเนื้อลำคอ มือของเขากำก้อนหินไว้แน่น สีหน้าเครียด คิ้วขมวด แววตาดูโฟกัสอย่างมุ่งมั่นไปยังที่ที่ดูห่างออกไป คล้ายกับว่า เขาตัดสินใจเด็ดเดี่ยวแล้ว ว่าจะทำอะไรสักอย่าง ถึงแม้ไม่มั่นใจในผลลัพธ์ที่ตามมาก็ตาม มันเป็นห้วงเวลาแห่งการชี้ชะตา ความเป็นตาย อันไม่มีวันหวนกลับ
ถ้าเราศึกษาเข้าใจภูมิหลังประวัติศาสตร์ของชนชาติยิวก็จะซาบซึ้งกับประติมากรรมชิ้นเอกของโลกมากขึ้น
เรื่องมีอยู่ว่า เดวิดเป็นหนุ่มเลี้ยงแกะ เครื่องมือประจำตัวนอกจากไม้เท้าแล้ว ก็มีสลิงสายทำด้วยหนัง เพื่อใส่ก้อนหินขนาดกำปั้นแล้วเหวี่ยงใส่สัตว์ร้าย เช่น หมาป่า หรือสิงโตที่จะเข้ามาขโมยแกะ เดวิดใช้สลิงได้อย่างเชี่ยวชาญ แม่นยำขนาดเหยี่ยวตัวใหญ่ เขาก็สอยมันลงมาได้
วันหนึ่งชนเผ่าฟิลีสตีนส์ที่ดุร้ายยกกองทัพมาประชิดชนชาวยิว เมื่อตั้งทัพเผชิญหน้ากัน กษัตริย์แห่งฟิลีสตีนส์เสนอให้แต่ละฝ่ายเลือกขุนพลมาสู้กันแบบตัวต่อตัว ถ้าขุนพลฝ่ายใดแพ้ก็ถือว่าแพ้ทั้งกองทัพ
กษัตริย์ฟิลิสตีนส์ส่งโกไลแอธลงชิงชัย โกไลแอธเป็นนักรบร่างยักษ์ สูงกว่า 2 เมตรเศษ แถมใส่เกราะทองแดงตั้งแต่หัวจรดเท้า มีโล่เหล็ก สะพายดาบ ถือหอกยาวและแหลน เมื่อเห็นโกไลแอธ กองทัพยิวเงียบกริบ ไม่มีนักรบคนใดกล้าสู้
มีเพียง เดวิด หนุ่มเลี้ยงแกะที่ขันอาสาเป็นตัวแทนกองทัพยิวสู้กับนักรบผู้เลื่องลือในด้านความแข็งแกร่งและดุร้าย แม้กษัตริย์ซอลชาวยิวจะไม่มั่นใจ แต่ก็ไม่มีทางเลือก
เดวิดเข้าสู่สนามรบ แบบไร้เสื้อเกราะ มีแต่ชุดผ้าคนเลี้ยงแกะ และเครื่องใช้ประจำตัวคือสลิงและก้อนหินขนาดเหมาะมือราว 5 ก้อนในถุงย่าม เขาไม่รบด้วยวิธีเดิมๆ และตามรูปแบบเดียวกับโกไลแอธ
ความที่เป็นคนร่างยักษ์ โกไลแอธเคลื่อนไหวเชื่องช้ากว่า และยังเป็นโรคอะโครเมกาลี ที่เป็นเหตุให้การมองเห็น พร่ามัว ส่วนเดวิด เขาอาศัยจุดเด่นของตนคือความคล่องแคล่วว่องไว หลบหลีกแหลนที่โกไลแอธพุ่งเข้าใส่ 3-4 ครั้ง และเมื่อได้จังหวะ เดวิดก็ใช้สลิงเหวี่ยงก้อนหินใส่โกไลแอทเข้าแสกหน้า โกไลแอธล้มครืนกับพื้น เดวิดจึง ปรี่เข้าไปแล้วเอาดาบตัดหัวโกไลแอธ และทำให้กองทัพยิวได้ชัยชนะไปในที่สุด
(รายละเอียดศึกษาได้ในหนังสือ “เล็กก็ล้มใหญ่ได้ ถ้าใจถึง” จัดพิมพ์โดย มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม)
(3) กระบี่อยู่ในเรา
ผู้ที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคม จะทำอะไรก็ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราฝึกมาแล้วนำมันมาใช้ เมื่อเจอสถานการณ์ที่ตึงเครียด สภาวะจิตของเราต้องนิ่ง ไม่หวั่นไหว เหมือนกับเดวิด
ไมเคิล แองเจโล อยากสื่ออะไรผ่านรูปปั้น? สำหรับผม เขาน่าจะบอกว่า ขอเราอย่าได้หวั่นไหวเมื่อห้วงเวลาแห่งชะตากรรมมาท้าทาย จงสู้กับมัน แต่ต้องรู้จักตัวเอง รู้จุดแข็งของตนว่าอยู่ตรงไหน เล่นเกมที่เราถนัด สู้กับ จุดอ่อนของคู่ต่อสู้
กลับมามองดูเรื่องราวในสมัยนี้ ผู้ที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคม จะทำอะไร ก็ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราฝึกมาแล้ว นำมันมาใช้ เมื่อเจอสถานการณ์ที่ตึงเครียด สภาวะจิตของเราต้องนิ่ง ไม่หวั่นไหว เหมือนกับเดวิด ที่มีความกล้าหาญ ตัดสินใจที่จะเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแรงกว่า ใหญ่กว่า รู้จังหวะและจุดแข็งของตนเอง
ตัวตนของเรา (being) คืออาวุธสำคัญที่สุด ดังที่เดวิด ได้แสดงไว้ในการประลองชัย
เราควรใส่ใจต่อการรู้จักตนเอง (self-knowledge) ให้มากขึ้น ซึ่งการจะรู้จักตนเองได้ เราต้องให้เวลากับตนเอง ในการฝึกฝนสภาวะจิตให้เยือกเย็น เมื่อตัดสินใจแล้ว ก็ต่อสู้ด้วยสติและสมาธิ
(4) โลกถดถอยก่อนก้าวหน้า
จากรอยต่อของยุคสมัย ที่ศาสนจักรครองอำนาจ มีทั้งสงครามและโรคระบาด สู่พลังในการค้นคว้าหาความรู้ ใหม่ๆ ทดลองอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้โลกก้าวไปข้างหน้า
เราศึกษายุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการก็เพื่อสร้างการมอง ความคิด ความเห็นของเรา ที่จับรูปแบบบางอย่างได้ เอามาใช้ในการส่องทางชีวิตตนเองและชีวิตสาธารณะ อย่างน้อยๆ ก็มีแสงสว่างนำทางในหมอกมัวและอึมครึม
เรื่องราวการต่อสู้ของเดวิดกับโกไลแอธ อาจอุปมาเทียบกับการปะทะชิงชัยของกำลัง 2 ขั้วในช่วงรอยต่อของยุค สมัย ระหว่างพลังของศาสนจักรที่ครองอำนาจมากล้นในยุคนั้น (ยุคมืด) กับ พลังการก่อเกิดความรู้ใหม่ๆ ที่ท้าทายความเข้าใจโลกเดิมๆ (ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา)
เราจะนำประวัติศาสตร์ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการมาใช้กับโลกสมัยใหม่ ที่มีกระแสพลังขัดแย้งสวนทางกัน (World of paradox โลกปฏิทัศน์) และ VUCA World ได้อย่างไร? ก่อนยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เกิดอะไรที่สอนเราได้บ้าง?
ราว 20-30 ปี ก่อนยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เกิดกาฬโรคระบาดทั่วยุโรป (ค.ศ. 1338-1400) ประชากรหนึ่งในสามของยุโรปล้มตาย แต่หลังจากนั้น การศึกษาค้นคว้าทางการแพทย์และสาธารณสุขก็รุ่งเรือง ประกอบกับ กูท เท้นแบร์ก ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ได้ การพิมพ์หนังสือแพร่ความรู้การศึกษาก็กว้างขวางอย่างก้าวกระโดด มาติน ลู เธอร์พระนักเทศน์ชาวเยอรมัน เล่าเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าและศาสนาคริสต์ในมิติใหม่ (new narrative) ท้าทาย อำนาจศาสนจักรแห่งวาติกัน
คัมภีร์ไบเบิลของ ลูเธอร์ กระจายไปทั่ว เพราะมีเครื่องพิมพ์ ทำให้ชาวบ้านเยอรมันเข้าถึงคำสอนได้ เกิดเป็นนิกายโปรเตสแต้นท์ ปะทะทางความเชื่อกับคาโธลิค และหลายปีต่อมา ก็เกิดสงครามศาสนา 30 ปี ทั่วยุโรป กว่าจะได้เซ็นสัญญาสงบศึกที่เวสต์ฟาเลีย ที่เอาอารยธรรมในยุคศิลปวิทยาการมาทำความเข้าใจเพื่อเป็นบทเรียนให้เราในศตวรรษที่ 21 หรือ 500 ปี ให้ หลัง เพราะช่วงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของยุโรปที่พุ่งทะยานเหนือส่วนอื่นๆ ของโลก จนสามารถควบคุมทิศทางของโลกถึงวันนี้
ความรู้ของนักวิทยาศาสร์สมัยนั้น ทั้งโคเปอร์นิคัส และกาลิเลโอที่พบว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์และโลกกลม นำไปสู่การค้นพบโลกใหม่ และเส้นทางเดินเรือสมุทรขนาดใหญ่ผ่านช่องแคบมะละกาการค้ากับโลกใหม่ การมีกลุ่มสกุลช่างอาชีพต่างๆ รุ่งเรือง สิ่งทอ การค้าขายก็รุ่งเรือง ทำให้พัฒนาเทคนิคการทำบัญชี การทำธุรกรรม เกิดการประกันภัย และการธนาคาร ความร่ำรวยของพ่อค้าที่สามารถมีอิทธิพลทางการเมืองก็ตามมา การค้าขายในเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปตั้งแต่เวนิส อัชท์เวอร์ป (เบลเยี่ยม) ไปยังลอนดอน อัมเสตอร์ดัม ฮัมบรูก ปารีส ความมั่งคั่งร่ำรวย ทำให้เมืองต่างๆ มีผู้คนอยู่กันหนาแน่น
(5) มืดในสว่าง การเมือง สงคราม และโรคระบาด
เวลานั้น ไข้ทรพิษเป็น “โรคอุบัติใหม่” คนสมัยนั้นจึงเรียกชื่อโรคนี้ไม่ถูก ต่างขนานนามชื่อโรคด้วยความเชื่อ และอคติเอาเอง
ในสมัยนี้ ทรัมป์ เรียก โควิด-19 ว่า Chinese disease “โรคระบาดจีน” สะท้อนนัยยะทางการเมืองอย่างชัดเจน
จากยุคมืดสู่ยุคสว่าง สังคมยุโรปสมัยนั้นมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าขาย การทำธุรกรรมและ เศรษฐกิจ ยุคนั้นยังไม่มีการเกิดรัฐชาติ (Nation State) แต่เป็นนครรัฐบ้าง เป็นรัฐแห่งกษัตราธิราชบ้าง หรือรัฐวาติกันของพระสันตปาปาบ้าง แน่นอนเมื่อมีอำนาจและผลประโยชน์มากมายเป็นเดิมพัน การแย่งชิงถึงสู้กัน ระหว่างรัฐและกษัตริย์ก็ติดตามมาด้วย
ปี ค.ศ.1494 ลุดาวิคอ สฟอร์ซา แห่งมิลาน ต้องการมีอำนาจในอิตาลีตอนเหนือแข่งกับนครเวนิส ขณะที่อัลฟอง โซที่ 2 แห่งเนเปิล ก็อ้างสิทธิปกครองมิลาน สฟอร์ซา ซึ่งมีพันธมิตร พระเจ้าชาร์ลที่ 7 แห่งฝรั่งเศส ได้ยกกำลังทหารเกือบ 30,000 คน ยกมาช่วยทำสงคราม ปล้น ฆ่า เผา ตามรายทางจนยึดกรุงเนเปิลส์ได้ ทำเอาผู้ครอง แคว้นต่างๆ อกสั่นขวัญแขวน แม้กระทั่ง สฟอร์ซา เอง ก็กลัวว่าพระเจ้าชาร์ลที่ 7 จะเขมือบมิลานได้ มหาอาณาจักรโรมอันศักดิ์สิทธิ์จึงสร้างพันธมิตรสันนิบาตขับไล่ ฝรั่งเศส มีเวนิส สเปน อังกฤษ และบางรัฐเยอรมันเข้าร่วมด้วย
เดือนกรกฎาคม 1495 สันนิบาตอันศักดิ์สิทธิ์รบกับกองทัพชาร์ลที่ 7 แถบเมือง ฟอร์โนโว ด้วยกำลังที่เหนือกว่า
ฝรั่งเศสต้องถอยทัพกลับไป กองทัพชาร์ลที่ 7 มีทหารรับจ้างจากหลายชาติเกือบ 10,000 คน ก็กลับบ้านด้วย
ในการรบ ต่างฝ่ายก็ล้มตายกันไม่น้อย แต่ที่กลายเป็นเรื่อง “ผีเสื้อกระพือปีก” คือ ทหารที่มารบบางคนนำเชื้อไข้ ทรพิษมาด้วย ในระหว่างการรบและตั้งค่าย เชื้อก็แพร่กระจายไปทั้งสองฝ่าย
เมื่อทหารเดินทางกลับบ้าน โรคทรพิษก็ระบาดไปตามเส้นทาง ระบาดไปจากอิตาลี เยอรมัน สวิส ฮอลแลนด์ อังกฤษ สก็อตแลนด์ กรีก สเปน ..
5 ปีเต็มกว่าไข้ทรพิษระบาดจะจบ
นอกจากไข้ทรพิษแล้ว เชื้อโรคใหม่ก็แพร่ในหมู่กลาสีเรือ เมื่อพวกนี้เดินทางไปทวีปอเมริกา โรคระบาดก็ตามไป ถึงชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกาด้วย (อ่านหนังสือ Gun, Germs, And Steel ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า ของ Jared Di- amond) กลายเป็นโรคระบาดทั้งโลก (pandemic)
เวลานั้น ไข้ทรพิษเป็น “โรคอุบัติใหม่” ความรู้เกี่ยวกับโรคยังไม่มี คนสมัยนั้นจึงเรียกชื่อโรคนี้ไม่ถูก ต่างขนานนามชื่อโรคด้วยความเชื่อและอคติเอาเอง
ชาวอิตาเลียนเรียก “โรคฝรั่งเศส” เพราะว่ามากับกองทัพพระเจ้าชาร์ลที่ 7 พวกฝรั่งเศสเรียก “โรคนาโปลิตา โน” เพราะคาดว่ามาจากเมืองเนเปิลส์
เมื่อมองดูโลกยุคโควิด-19 หรือไวรัสโคโรน่า ปี ค.ศ. 2020 เราจะได้ยิน อย่างที่ ทรัมป์ เรียก โควิด-19 ว่า Chinese disease “โรคระบาดจีน” สะท้อนนัยยะทางการเมืองอย่างชัดเจน
เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์โรคระบาด “อุบัติใหม่” เราพบว่าความรู้ด้านแพทย์และสาธารณะสุขมักไล่ตามหลังโรคเสมอ นอกจากนั้นเราพบว่าแหล่งแพร่ระบาดของโรคมักเป็นเมืองใหญ่ ที่มีผู้คนอยู่กันหนาแน่น เช่น ลอนดอน ปารีส นิวยอร์ค กรุงโตเกียว หรือกรุงเทพ ล้วนมีอัตราผู้รับเชื้อระบาดมากที่สุด
ในสถานการณ์ที่ระบบกำลังอ่อนไหว ศูนย์รวมแห่งอำนาจการเงิน การค้าขาย การผลิตและการบริการ การกระจุกตัว อำนาจเศรษฐกิจ ธุรกิจและการเมือง กลายเป็นจุดเปราะบาง ส่วนหมู่บ้านเล็กๆ เมืองเล็กๆ ในชนบทที่ อำนาจธุรกิจน้อย อำนาจการเมืองต่ำ มักรอดพ้นจากอันตรายโรคระบาด หรือรับมือกับโรคระบาด รับมือกับ ดิสรัปชันด้านสุขภาพได้ดีกว่า
(6) โลกแห่งดิสรัปชัน
ดิสรัปชันไม่ได้มีเพียงเรื่องเทคโนโลยี เราจะเห็นดิสรัปชันในหลายมิติ เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อน้ำท่วมครั้งใหญ่ ปี 2554 ทั้งก่อนหน้าและหลังการเกิด แล้วเรื่องภัยแล้ง โลกร้อนอีกล่ะ
ในอดีต ประวัติศาสตร์ของชาติไทยก็เผชิญโรคระบาดสำคัญๆ ที่เราเรียกว่า โรคห่า จนต้องย้ายเมืองหนีกัน เช่น ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา หรือ นครศรีธรรมราช เป็นต้น แต่นอกจากโรคระบาดแล้ว อันตรายที่เกิดขึ้นฉับพลันก็ยังมี เช่น ภัยพิบัติธรรมชาติ แผ่นดินไหว อุทกภัยร้ายแรง เป็นต้น ก็เป็นดิสรัปชันทางธรรมชาติ แล้วอันตรายด้านอื่นล่ะ?
ดูนครรัฐเวนิสเป็นตัวอย่าง สมัย 500 ปีก่อน มีงานหัตถกรรม อุตสาหกรรมและช่างฝีมือ ผลิตเครื่องแก้ว ผ้าไหม กระดาษ และงานฝีมือคุณภาพดีอื่นๆ ต่อมาพ่อค้าลงทุนด้านการค้าเครื่องเทศจากเอเซียโดยผ่านเส้นทาง สายไหม และมหาสมุทรอินเดียสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ความมั่งคั่งของเมืองเวนิสเพิ่มทวีคูณ เมื่อชาวยุโรปที่ฟื้นจากกาฬโรคมีรายได้ดีขึ้น บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยจากเอเชียมากขึ้น
ความมั่งคั่งนับร้อยปีก็ถูกดิสรัป เมื่อ
1.) อาณาจักรออตโต้มาน เมื่อยึดกรุงกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ ก็แผ่อำนาจมาทางทะเล ทำการยุทธนาวีครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ.1499 กับเวนิส และเวนิสแพ้ การขนสิ่งทางทะเลถูกแบ่งผลประโยชน์
2.) ที่รุนแรงยิ่งกว่า คือ ปีเดียวกัน วาสโก้ เดอ กามา พากองเรือเปิดเส้นทางการค้าใหม่ จากมหาสมุทรแอตแลนติกสู่เอเซีย กรุงลิสบอนจึงกลายเป็นชุมทาง (Hub) ใหญ่ของการค้าขายแห่งมหาสมุทรแอตแลนติก เมืองชายฝั่งของเยอรมันอย่าง ฮัมบูร์ก คีล เบรเมน อัมสเตอร์ดัม ก็รุ่งโรจน์แทน เวนิสตั้งตัวไม่ติด ปรับตัวไม่ทัน กับเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ เวนิสจึงตกต่ำตั้งแต่นั้นมา
ดิสรัปชันไม่ได้มีเพียงเรื่องเทคโนโลยี จากประวัติศาสตร์ เราจะเห็นดิสรัปชันในหลายมิติ เช่นในคราวเกิด อุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2554 ในประเทศไทย นิคอุตสาหกรรมต่างๆ รอบๆ กรุงเทพจมน้ำหมด ชิ้นส่วนต่างๆ ตั้งแต่รถยนต์ ไปจนถึงพวกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์และพวกดิสก์ไดรฟ์กว่า 40% ที่ผลิตบริเวณนี้ส่งมอบไม่ได้
ลูกโซ่แห่งอุตสาหกรรมต่างๆ สะเทือนไปครึ่งโลก นอกจากค่าแรงงานที่สูงขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องแปลกใจที่ฐานการ ผลิตสินค้า ชิ้นส่วนพวกนี้จึงย้ายฐานไปเวียดนามและประเทศอื่น
ภัยแล้งเพราะปฏิกิริยาเรือนกระจก และอุทกภัยร้ายแรง ที่เกี่ยวข้องกับเขาหัวโล้น การทำลายเส้นทางน้ำ ธรรมชาติ การสร้างเมืองที่พิกลพิการด้วยผังเมืองตามใจอิทธิพล ผลประโยชน์ ยังเป็นหอกจ่อคอหอยเมืองใหญ่ๆ อยู่
(7) เงาของความร่ำรวย
เกิดอะไรขึ้นทั้งกับคนจนและคนรวย หลังเกิดวิกฤต ตัวอย่างของอำนาจและอิทธิพล เงาสะท้อนจากอดีตถึง ปัจจุบัน
เมื่อกาฬโรค คร่าชีวิตคนยุโรปไปเกือบครึ่ง ที่ดินการเกษตรรกร้าง ไม่มีแรงงาน เจ้าของที่ดินจึงให้เช่าราคาถูกๆ เทคโนโลยีการเกษตรพัฒนา เกษตรกรจำนวนไม่น้อยรายได้ดีขึ้น การค้าขายแลกเปลี่ยนพัฒนา
ความร่ำรวยจากการค้นพบโลกใหม่ เส้นทางการค้าขายมุ่งสู่เอเชีย ทำให้ยุโรปมั่งคั่ง เมืองรุ่งเรืองตามเส้นทางการค้า ชนชั้น กลางเติบโต
ตระกูลเมดิชี (Medici) สนใจสนับสนุนงานศิลป์ สถาปัตยกรรม โบสถ์งามๆ เช่น ดูโอโม (Duomo) และที่อื่นๆ ก็ งดงามหลายเมืองใหญ่ในยุโรป
ตระกูลบอร์เจีย (House of Borgia) ซึ่งมาจากสเปน ย้ายมาอยู่อิตาลี ร่ำรวย ทรงอำนาจอิทธิพลและอื้อฉาว ตีคู่มากับตระกูลเดมิชี แต่บอร์เจียชั้นเชิงการเมือง
ร้ายกาจกว่า สามารถผลักดันลูกชายคนหนึ่งเป็นสันตะปาปาแห่ง โรมได้ ชื่อ อเล็กซานเดอร์ที่ 6 ในปี ค.ศ. 1492
ท่ามกลางโบสถ์สวยงาม งานศิลป์รุ่งเรือง ชาวเมืองมั่งคั่ง การเติบโตของงานหัตถกรรม สกุลช่างฝีมือดี ความรุ่งเรืองทางการค้าย่อมต้องการสินเชื่อ เงินลงทุนและธุรกิจประกันภัย ด้วยความสามารถในการพัฒนาระบบ บัญชีการคำนวณดอกเบี้ย ทำให้งานธุรกรรมการเงินรุ่งโรจน์ เงินหมุนเวียนสะพัดมากกว่าการผลิตหัตถกรรม การบริการ ค้าขาย หลายเท่าตัว กลุ่มการเงินจึงมีอิทธิพลทางการเมือง
ดังกรณี ชาร์ลที่ 1 กษัตริย์แห่งสเปน กู้เงินจากฟุกเกอร์ส (Fuggers) แห่งเมืองเอาก์สบวร์ก (Augsburg) แห่งบา วาเรีย เมื่อปี 1519 เพื่อซื้อเสียงการเลือกตั้งสันตาปาปาแห่งโรม ด้วยเงิน 850,000 เหรียญทองฟลอรีน
เรื่องเช่นนี้ ก็ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน ตัวอย่างโดดเด่นคือมหาเศรษฐีอย่าง ทรัมป์ รวมทั้งอภิมหาเศรษฐี อเมริกันกับอำนาจการเมือง หรือตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ที่รัฐบาลไทยในตอนนี้ (2563) ขอพึ่งพาการฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก 20 ตระกูลมหาเศรษฐีไทย
(8) โลกปฏิทัศน์
โลกเคยปั่นป่วนวุ่นวายมาแล้วในอดีต มีทั้งผู้ถูกทอดทิ้งอย่างแร้นแค้น คนร่ำรวยที่ก้าวไปสู่อำนาจ การแบ่ง ชนชั้น ความไม่เท่าเทียม คนที่โกรธเกลียด คนที่โหยหาความหวัง คำสัญญาลวง โลกยังปั่นป่วนเรื่อยมาจนทุก วันนี้
โลกที่เราอยู่นี้ไม่เคยพัฒนาเป็นเส้นตรง มีขึ้น-ลง คดเคี้ยว มีระยะตกต่ำและขึ้นสูง จากเมืองวุ่นวาย ปั่นป่วน มี สว่าง.. มนุษยชาติดิ้นรนเพื่อให้ดีขึ้นเสมอ ไม่เคยยอมสยบต่อชะตากรรม
ยุครุ่งโรจน์แห่งศิลปวิทยาการไม่ได้มีด้านสว่างอย่างเดียว ด้านมืดของยุคนี้ คือ ความร่ำรวยกระจุกตัว อำนาจ รวมอยู่ในมือพ่อค้า นายธนาคาร และชนชั้นสูง สามัญชนคนจนหาเช้ากินค่ำต้องทำงานหนัก ถูกขูดรีดแรงงาน ยากจนและสิ้นหวัง ซึ่งก็ทำให้เกิดผลกรรมตามมา คือ เกิดการกบฏบ่อยๆ ในหลายๆ แห่ง และถูกปราบอย่าง ทารุณ
ช่วงรอยต่อระหว่างยุคมืดและฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ชาวเมืองฟลอเรนซ์กว่าครึ่งเมืองยากจนข้นแค้น มองไม่เห็นอนาคต อีกทั้งพระผู้ใหญ่ ศาสนจักรเองก็มั่งคั่งร่ำรวย มิได้เป็นความหวังทางจิตวิญญาณ ผู้คนไร้การศึกษาเหล่า นี้ยังเชื่อโชคลางและไสยศาสตร์ เสมือนคนกำลังจะจมน้ำตาย ฟางมัดเดียวลอยมาย่อมต้องคว้าไว้ก่อน
จิโรลาโม สาโวนาโรลา (Girolamo savonarola) พระเทศน์นิกายโดมินิกันใช้แท่นธรรมาสเป็นแหล่งปลุกระดมชาวเมืองฟลอร้นซ์ ผู้ถูกทอดทิ้งอย่างแร้นแค้น ปรับตัวให้ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนเร็วไม่ทัน ทุกๆ ครั้งที่เขาขึ้นเทศน์จะใช้ภาษาเร้าใจ ปลุกระดมความโกรธ เกลียด เป็นพลังพุ่งเข้าใส่ชนชั้นสูง ทั้งนักการเมือง เศรษฐีและพระ ผู้ใหญ่
จิโรลาโมนอกจากเทศน์แล้วเขาก็รู้จักใช้สื่อสมัยนั้น “แท่นพิมพ์” พิมพ์ใบปลิว ภาษาง่ายๆ ไม่กี่ประโยค แต่แทงใจดำคนที่โหยหาความหวัง เขาไม่มีอำนาจสั่งการ ไม่มียศสูงในศาสนจักร เหมือนฮิตเลอร์ในโรงเบียร์มิ วนิค “โฮฟบรอยเฮ้าส์” ใช้วาทศิลป์ โปสเตอร์ ใบปลิว ปลุกใจสาวกให้ลุกฮือ เขาสามารถปลุกเร้าคนจำนวน 15,000 คน โบสถ์ Duomo อันงามสง่าในฟลอเรนส์
เมื่อกองกำลังฮาร์ดคอร์ของจิโรลาโมเหิมเกริม คุกคามชาวเมือง ก่อจลาจลทุบทำลายบรรดาชนชั้นสูงแห่ง ฟลอเรนซ์ซึ่งต่อสู้ชิงอำนาจกัน จึงหันหน้าจับมือพันธมิตรเพื่อปราบปราม จิโรลาโมจนสำเร็จ
ผู้ที่สนใจอ่านประวัติศาสตร์จีนกว่า 3,000 ปี พบว่า เมื่อราชสำนัก ขุนนาง และตระกูลใหญ่ ที่มีอำนาจ อิทธิพล ร่ำรวยล้นฟ้า แต่ชาวนา คนจนเมืองทุกข์ยากสาหัส การลุกฮือของกบฎนับร้อยนับพันครั้งเกิดขึ้นเสมอเราคงได้ อ่าน “กบฎ นักมวย” สมัยซูสีไทเฮาที่ให้สัญญานำพาชาวนาจีนผู้ยากไร้ไปสู่ดินแดน “สุขาวดี” ฉันใด จิโรลาโม เมื่อ 500 ปี ก่อน ก็พูด
เมื่อเยอรมันนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ต้องยอมเซ็นสนธิสัญญาแวร์ซายด์ที่ทูตเยอรมันให้สยบและชดใช้ค่า ปฏิมากรรมสงคราม เศรษฐกิจฟุบกับดิน ผู้คนว่างงานจำนวนมาก และสาธารณรัฐไวมาร์ที่มีพรรคการเมืองต่างๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การประท้วงก่อหวอดจลาจล ปั่นป่วนวุ่นวาย ชาวเยอรมันส่วนใหญ่คุ้นเคยกับระบบที่มีผู้ มีอำนาจสั่งการ ตั้งแต่สมัยปรัสเซีย ย่อมมองหาอัศวินม้าขาวที่มาชี้นำทางออกจากความสิ้นหวัง มืดมน สับสน อดีตสิบโท ที่บาดเจ็บจากสงคราม แต่เป็นนักพูดที่มีวาทศิลป์ ปลุกเร้าใจคนฟัง ในโรงเบียร์ขนาดใหญ่ในเมืองมิวนิคจึงพุ่งทะยานเป็นขวัญใจชาวเยอรมันในระยะเวลาสั้นๆ พร้อมกับการก่อตั้งพรรคนาซีขึ้นมาด้วยสัญลักษณ์สวัสดิกะ
ด้วยชั้นเชิงต่างๆ ทางการเมือง รวมทั้งการปลุกระดม เกลียดชัง ทำร้าย เข่นฆ่าคนยิว สิบโท อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ คุมอำนาจทั้งหมดเบ็ดเสร็จและนำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ.1939/40
(9) มองอดีต ส่องทางอนาคต
แม้ประวัติศาสตร์ไม่ได้วนมาเหมือนเดิมเป๊ะ เพราะเหตุปัจจัยแห่งยุคสมัย แต่เราต้องมองเห็นรูปแบบปัจจุบันที่โลกซับซ้อนย่อมเปราะบาง อัตราเสี่ยงสูง ปรากฎการณ์ต่างๆ เกิดจากหลายโครงสร้างที่เชื่อมโยงกัน ความรู้ ความสามารถ ความเข้าใจของเรามีพอที่จะทำอะไรได้หรือไม่
ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์ มนุษยชาติจะไม่เหมือนเดิมเป๊ะ เพราะเหตุปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะเทคโนโลยี แต่เราก็สามารถจับรูปแบบ (patterns) ได้ทำให้มีไอเดียช่วยในการตัดสินใจเลือกและลงมือทำ
สมัยที่ฟลอเรนซ์รุ่งเรืองสร้างกระแสพลังศิลปวิทยาการ สร้างกระแสพลังศิลปวิทยาการไปเกือบทั่วยุโรป
เราได้เรียนรู้ว่า การเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้า การทำธุรกรรม การเชื่อมกระแสความรู้ ความคิด ข่าวสาร รวมๆ แล้ว คือ การเชื่อมโยง (Connectivity) นั้น นำมาสู่การกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ อำนาจ ผลประโยชน์ และ การตั้งบ้านเมือง
เมื่อระบบสังคมซับซ้อนขึ้น ย่อมเปราะบางกระทบง่าย มีอัตราเสี่ยงสูงขึ้นตามสภาวะซับซ้อนและการกระจุกตัว รวมศูนย์
อย่างที่ได้ชี้การกระจุกตัวศูนย์อำนาจการผลิตพาณิชยกรรมในกรุงเทพและปริมณฑล อันเป็นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เมื่ออุทกภัยใหญ่ 2554 นำไปสู่วิบัติต่างๆ และกระทบการผลิต การค้าของโลกด้วย
มาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง ฤดูใบไม้ผลิ 2010 (พ.ศ.2553) ภูเขาไฟ ไอยาฟยาตลาเยอคุตล์ ที่ประเทศไอซ์แลนด์ พ่น ฝุ่นควันหนาทึบไปตามน่านฟ้ายุโรปตะวันตก เป็นเวลา 6 วัน ทำให้ 3 สนามบินใหญ่ ลอนดอน ฮีธโทรว์ ปารีส ชาร์ล เดอโกล และ แฟรงก์เฟิร์ต ต้องระงับเที่ยวบินเกือบ 100,000 เที่ยว กระทบตั้งแต่การขนส่งผัก ผลไม้ จาก เคนยา ซิมบาเว การส่งมอบอวัยวะ (เพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ) ไปจนถึงการเดินทางท่องเที่ยว ธุรกิจ ยุโรป สหรัฐอเมริกา มีคนคำณวนว่าเสียหายทางเศรษฐกิจ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เรามาดูความเสี่ยงของระบบโครงสร้างอีกประเภทหนึ่ง เมื่อ สิงหาคม 2543 เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง ในระบบไฟฟ้าที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสหรัฐและแคนาดา ประชากรราว 50 ล้านคน อยู่กับความมืดกว่า 30 ชั่วโมง เสียหาย 6,000-10,000 ล้านดอลลาร์
เมื่อเรายกระดับหรือสเกลของโครงสร้างสำคัญที่สุดในการเชื่อมโยงระบบดิจิตอล “อินเตอร์เน็ต” ที่ใช้ในการ ป้องกันประเทศด้านเคมี อาหาร การขนส่ง คมนาคม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พลังงาน น้ำประปา ธุรกรรมการเงิน โดยยังไม่รวมความเสี่ยงอาชญากรรมไซเบอร์ และความเป็นไปได้ของสงครามไซเบอร์
ระบบยิ่งละเอียดปราณีตเท่าใด การกระทบง่าย เปราะบางยิ่งตามเป็นเงา เคยได้ยินเรื่องรถหรูราคาแพงระยับ 30/40 ล้านบาทไหม เกิดปัญหาบางอย่างในระบบอีเล็กทรอนิคส์ในรถ เปิดประตูออกไม่ได้ เครื่องดับ คนที่นั่งข้างในเกือบตาย ถ้าช่างจากศูนย์ไม่มาช่วยเปิดทันการ
เรื่อง connectivity and concentration ทำให้เกิดระบบซับซ้อนในยุค VUCA world จึงมีหลายมิติ หลายระดับ ตั้งแต่ภูมิศาสตร์ กายภาพเมือง เทคโนโลยี ระบบโลจิสติกส์ ระบบดิจิตอล จนมาถึงระบบจิตวิทยามวลชน
ในภาพที่เป็นแกนแนวตั้ง มีทั้งปัญหายาก ท้าทาย อันตราย และความสามารถหรือสมรรถภาพในการแก้ปัญหา
(ที่ใดมีปัญหาย่อมมีความพยายามแก้ปัญหาติดตามมา) แกนแนวนอนเป็นเรื่องเวลา
เส้นประสีแดง ตัวเลขแดง คือ ปี ค.ศ. 1990 หรือ จุดตัดที่เส้นความสามารถ/ สมรรถภาพ รับมือกับปัญหา ท้าทาย เพราะกำแพงเบอร์ลิน สัญลักษณ์ของการแบ่ง 2 โลก 2 ค่าย โลกทุนนิยม โลกสังคมนิยม ไม่มีแล้ว กลายเป็นโลกเดียวกัน อาจารย์รัฐศาสตร์ฟรานซิส ฟูกูยาม่า (Francis Fukuyama) เขียนหนังสือ The End of History ด้วยความยินดีปรีดาว่า New normal เกิดขึ้นแล้ว การต่อสู้ทางอุดมการณ์ ทางชนชั้นจบแล้ว เป็นโลก เดียวกัน โดยทุนนิยมเสรีเป็นผู้กำกับ ความสงบสุข สันติภาพ และความมั่งคั่ง รุ่งโรจน์จะเกิดขึ้น
แต่มันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ กรณีเครื่องบินพุ่งชนตึก 9/11 สงครามในอัฟกานิสถาน ในอิรัค ซีเรีย ลิเบีย และอีก หลายแห่งในโลก การวางระเบิด ก่อการร้ายในยุโรป สหรัฐ การประท้วงอาหรับสปริง กลุ่มประท้วง Oc-cupy Movement การประท้วงปัญหาโลกร้อนของ เกรต้า ทุนเบิร์ก เด็กหญิงวัย 15 ปี และวันนี้ โควิด 19 หรือ Corona virus โถมเข้าใส่ทั้งโลกเฉียบพลัน..
ในภาพเส้นสีแดง ปัญหาซับซ้อนเพิ่มยิ่งขึ้น เส้นสีน้ำเงิน ความรู้ ความเข้าใจ และ ปัญญาที่จะแก้ปัญหาไล่ตาม ไม่ทัน ช่องว่าง สนามสีเหลืองกว้างออกไป ราวกรรไกรอ้า เขียนว่า blind spot จุดบอดของผู้นำ
เราต้องเข้าใจ 2 เรื่องเกี่ยวกับความซับซ้อนทางสังคม
1) ในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากๆ เราต้องเห็นและเข้าใจมันเสียก่อน เราจะเข้าใจมันได้ เมื่อเราเข้าใจเหตุและ ผลที่กระทำต่อกันและกัน แต่เราไม่รู้ต้นเหตุที่แท้ว่ามาจากอะไร? มาได้อย่างไร ดังกรณี ไวรัสโควิด 19 วันนี้ก็ยัง ไม่รู้ชัด
2) ความซับซ้อนบีบคั้นสมองและอารมณ์ของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การกระจุกตัวรวมศูนย์บีบคั้นการตัดสินใจ เราแต่ละคนมีอิสระในการตัดสินใจ แต่พอตัดสินใจแล้วมันเป็นเรื่องสาธารณะ เป็นผลที่เกิดกับส่วนรวม ซึ่ง เกิดความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงติดตามมา เราไม่สามารถแยกตนเองจากสายใยสัมพันธ์สังคมนี้ได้
(10) ยุคสมัยและการเปลี่ยนกระบวนทัศน์
อำนาจบังคับจิตใจยิ่งกดทับคนยิ่งดิ้นรน เหมือนทานตะวันที่ต้องหันหาแสง การเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์เก่าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ฟื้นจิตใจให้คนยิ่งค้นคว้าแล้วได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ เรื่อยมา
ยุคศิลปวิทยาการมี paradigm shift หรือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ สาเหตุน่าจะมาจากช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ ศาสนาจักรมีทั้งอำนาจการเมืองและอำนาจบังคับจิตใจให้ผู้คนศรัทธาโดยไม่มีปัญญาควบคุม เป็นศรัทธาเข้มข้นด้วยความกลัว กลัวทำผิด ไม่กล้าคิดนอกกรอบ กลัวการทดลองอะไรใหม่
ลองจินตนาการ เมื่อเรากลัว เราจะมือเย็น เท้าเย็น ตัวชา เย็นเฉียบราวเป็นน้ำแข็ง ความกลัวมันกัดกร่อนจิตใจ และความหฤหรรษ์
นักประวัติศาสตร์ยุโรปนิยามยุคสมัยนั้นว่า Dark Age ยุคมืดทางปัญญา มนุษย์ต้องเป็นทาสของคำสั่งจากเบื้องบน มนุษย์ไม่ได้เป็นมนุษย์ดังในยุคที่ปรัชญากรีก เช่น โสกราติส เพลโต้ และอริสโตเติ้ล
สิ่งมีชีวิตดังเช่น ดอกทานตะวัน ต้นไม้ ยังหันเข้าหาแสงสว่าง มนุษย์ก็เช่นกัน เขาต้องการแสงสว่างภายนอกและแสงภายใน ปัญญาชนยุคนั้นจึงดิ้นรน ศึกษา ค้นคว้าวิทยาการ ความรู้ใหม่ๆ ดังที่สมัยกรีก โรมัน ได้ทิ้งเอาไว้
งานวิทยาศาสตร์ของ โคเปอร์นิคัส เป็นสูตรสมการคณิตศาสตร์ แม้ดูเสมือนไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันเลย เพราะไปอธิบายเส้นทางและความสัมพันธ์ต่างๆ ของตำแหน่งดวงดาวในจักรวาล และอธิบายว่าโลกหมุนรอบ ดวงอาทิตย์ ทฤษฎีที่พูดว่า “แหกคอก” “เดียรถีย์” ท้าทายคำสอน ความเชื่อของศาสนจักรอันยิ่งใหญ่
มันเป็นการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งผลสะเทือนตามมาอีก 100 ปีเศษ จนถึงยุควิทยาศาสตร์นิวตัน ว่าไปแล้วทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relativity Theory) ของ Einstein และนักวิทยาศาสตร์ควอนตัม ไม่ได้มีผลต่อ ชีวิตประจำวันมนุษย์โดยตรง แต่ระบบคอมพิวเตอร์ มือถือ สังคมสารสนเทศ ล้วนมาเพราะการค้นพบทาง วิทยาศาสตร์ของอัจฉริยะเหล่านี้
ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่โคเปอร์นิคัส ผู้เป็นปราชญ์เผยแพร่ในกลุ่มผู้ศึกษาใฝ่รู้สมัยนั้น เขาก็ยังเรียก “ศาสตร์ ลี้ลับ” (Esoteric) อยู่ เพราะมันเป็นตัวเลข เป็นสูตรสมการชั้นสูงที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง แต่มันก็เป็นความจริงของ ความจริงที่พัฒนาต่อยอดกันมาจนถึงวันนี้ เพราะวิชาคณิตศาสตร์ได้สร้างหลักสูตรสอนกันในมหาวิทยาลัย ต่างๆ “ศาสตร์ลี้ลับ” สมัยโคเปอร์นิคัส จุดประกายด้านอื่นๆ ให้แก่ ศิลปวิทยการที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ภาพวาดของ ไมเคิล แองเจโล เลโอนาร์โด ดาวินชี่ ยกย่องคุณค่า ความงาม ความดีของมนุษย์ ดังภาพ ปฏิมากรรมเดวิด
(11) กระบวนทัศน์ใหม่ศตวรรษที่ 21
โลกและจักรวาลเป็นระบบมีชีวิต คาดคะเนยาก ทำนายแม่นยำได้ยาก เป็นอนิจจัง พัฒนาคดเคี้ยว วิวัฒนาการ ซับซ้อน มีพลวัตไม่หยุดนิ่ง มีการคิดค้นทฤษฎีต่างๆ เพื่อช่วยให้เราทำความเข้าใจ ไม่ผลีผลามแก้ปัญหา กระบวนทัศน์ใหม่ กาย/จิต อารมณ์ มีผลต่อกันและกัน การพัฒนาคุณภาพภายในมีผลต่อการสร้างสรรค์ ภายนอก
การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในยุคนี้ ดังที่ โทมัส คูณ (Thomas Kuhn) นิยามประมาณ ค.ศ.1960 ต่างจากกระบวน ทัศน์ใหม่ยุคศิลปวิทยาการอย่างไร?
สรุปสั้นๆ นับจากยุคศิลปวิทยาการเรื่อยมา จนต้นศตวรรษที่ 20 กระบวนทัศน์หลักมองโลก จักรวาล เป็นเสมือนกลไกนาฬิกา กลไกเครื่องจักร ไม่มีชีวิต เดิน พัฒนา เป็นเส้นตรง ทำนายได้แม่นยำว่าอะไรคือเหตุ
ส่วนกระบวนทัศน์ใหม่ (โดยควอนตัมฟิสิกส์) โลกและจักรวาลเป็นระบบมีชีวิต คาดคะเนยาก ทำนายแม่นยำได้ ยาก เป็นอนิจจัง พัฒนาคดเคี้ยว วิวัฒนาการซับซ้อน มีพลวัตไม่หยุดนิ่ง
สรรพสิ่งทั้งหลายมีทั้ง mind and matter จิตใจและสสาร วิทยาศาสตร์กับจิตวิญญาณบูรณาการกัน ไม่ได้แยก จากกัน ร่างกาย สมองเซลล์ต่างๆ และเซลล์หัวใจมีผลสัมพันธ์กัน บูรณาการกัน ไม่แยกส่วนแต่เป็นองค์รวม
กระบวนทัศน์ใหม่นี้แพร่หลายกว่า 50 ปีแล้ว แต่มันยังไม่ซึมซ่านสู่ชีวิตประจำวันของเราในฐานะบุคคล ยังไม่ เข้าไปอยู่ในเนื้อในตัวเองของสถาบัน องค์กร และชุมชน สังคม กระบวนทัศน์นี้ยังดีเลย์ (delay) แต่ปรากฎตัว ออกมาทีละน้อย และคาดว่าจะมีผลสะเทือนใหญ่ (impact) ทางสังคม ใน 10-20 ปี ข้างหน้า
กุญแจสำคัญของกระบวนทัศน์ใหม่ คือ กาย/จิต และ อารมณ์มีผลต่อกันและกัน การพัฒนาคุณภาพภายใน ความคิดจิตใจและอารมณ์มีผลต่อโลกภายนอก ต่อสิ่งประดิษฐ์ ต่อผลผลิต การออกแบบ การสร้างสรรค์ล้วนมาจากข้างในออกนอกทั้งสิ้น และเมื่อประสบการณ์การเฝ้าดู “แล้วเห็น” จากปรากฎการณ์ข้างนอก จะย้อนกลับเข้า มาสู่ภายในใหม่ ยกระดับความสามารถ “ประสบการณ์แห่งประสบการณ์” (experience of experience)
การพัฒนา “โลกภายในมนุษย์” มีผลต่อความงอกงามโลกภายนอกของมนุษย์ตั้งแต่ธรรมชาติ สถาปัตยกรรม การบริหาร การจัดการ การทำเศรษฐกิจ เพาะปลูก เป็นต้น
กลุ่มบุคคลที่จับเรื่องนี้จริงจัง คือ Society for Organizational Learning (SoL) ที่มีปีเตอร์ เซงเก้ (Peter Senge) เป็นแกน ต่อมา ออตโต ชาร์มเมอร์ (Otto Scharmer) พัฒนาเป็นงานวิจัย มาเป็น Theory U (ทฤษฎีตัว ยู) เอาหลักคิดสำคัญของจิตวิทยาเชิงพุทธมาใช้ในการสร้าง “จิตอันสว่าง สงบ” เพื่อพิจารณาหาทางแก้ปัญหา ยากๆ ซับซ้อน โดยไม่ผลีผลาม หรือแก้ปัญหาแบบปฏิกริยา (react)
นี่เป็นเรื่องการฝึกฝน เปลี่ยนชุดความคิดจากจิตสำนึกและพฤติกรรมเดิมๆ ไปใช้จิตใต้สำนึกอีกประเภทหนึ่งที่มี สติสัมปชัญญะเป็นรากฐานอารมณ์ ความคิด และจิตใจ