ที่มา : นิตยสาร Esquire May 2008  
Text : Wilairat
Photo : Suwat
ทฤษฎีไร้ระเบียบ

 

เรื่องมันมีอยู่ว่า บังเอิญมีคนเอา กล่องมาม่าใส่เงินจำนวนมากมาวางไว้หน้าห้องเลขที่ 66 ซึ่งบังเอิญว่า เลข 6 ตัวหลังหลุดห้อยลงมากลาย เป็นเลข 9 

 

หญิงสาวในห้องเลขที่ 66ซึ่งบังเอิญว่าตกงานและไม่มีเงินเลยเอาเงินในกล่องนั้นมาเก็บไว้โดยหารู้ไม่ว่า กล่องมาม่านั้นบังเอิญเป็นกล่องเงินของแก๊งค์มิจฉาชีพ ต่อจากนันก็เกิดการตามล่าหากล่องเงินอย่างดุเดือดเลือดพล่าน จนมีคนตายเพราะเรื่องนี้หลายรายอย่างไม่น่าเชื่อ…

 

 

อีกเรื่องมันมีอยู่ว่า ชายคนหนึ่งพบว่ามีสุนัขของเพื่อนบ้านมาไล่กัดเป็ดในฟาร์มตัวเองจนเป็ดตายไปหลายตัว เลยบันดาลโทสะ คว้าปืนเดินตรงไปเอาเรื่องกับเจ้าของสุนัข แต่ตกลงกันไม่ได้ เลยเอาปืนยิงเจ้าของสุนัขจนตายตามเป็ดของตัวเองไป…

เรื่องแรกจากภาพยนตร์เรื่อง “เรื่องตลก 69” โดยผู้กำกับฯ เป็นเอก รัตนเรือง 

 

เรื่องที่สอง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2551

 

 

เรื่องจริงและแต่งทั้งสองเรื่อง ล้วนเกิดมาจากเรื่องเล็กๆ ที่บานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่จนเกินควบคุม หลายเรื่องเกิดขึ้นเหมือนบังเอิญแต่ก็เหมือนมีมือที่มองไม่เห็นลากไปสู่อะไรบางอย่าง

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นักคิด นักเขียน และประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civicnet) เรียกเรื่องเหล่านั้นเป็นภาษา ง่ายๆ ว่า “น้ำผึ้งหยดเดียว

ทฤษฎีไร้ระเบียบ

แต่เชื่อไหมว่า เรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่มีผลกระทบต่อเนื่องมหาศาลทำนองนี้ นักวิชาการในระดับนานาชาติมีการวิเคราะห์ไว้เป็นหลักทฤษฎีที่มีชื่อว่า Chaos Theory หรือ ทฤษฎีไร้ระเบียบ ซึ่งชัยวัฒน์ก็เป็นนักคิดคนแรกที่นำทฤษฎีนี้มาเผยแพร่ให้สังคมไทยได้รู้จักตั้งแต่ปี พ.ศ 2536

ในหนังสือเรื่อง Chaos Theory ทฤษฎีไร้ระเบียบกับทางแพร่งของสังคมสยามที่ชัยวัฒน์เขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 บอกว่าเรื่องความไร้ระเบียบนี้เป็นศาสตร์แห่งความอนิจจังหรือความไม่แน่นอน

พูดง่ายๆ ว่าทฤษฎีนี้กำลังจะบอกว่าโลกของเรานับจากนี้ไป อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ โดยไม่สามารถทำนายล่วงหน้า

 

1+1 ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ 2 อีกแล้วในโลก ทุกวันนี้” ชัยวัฒน์บอก

คำว่า Chaos แปลว่า โกลาหล อลหม่านแต่ในกรณีของ Chaos Theory นั้นกลับเป็นความอลหม่านที่น่าเรียนรู้ว่า ปัจจัยอะไรทำให้เกิดเรื่องเช่นนั้น และเราจะมีการรับมือได้อย่างไร

ความอลหม่านประเภทยกพวกตีกันนั้นเป็นความอลหม่านทางกายภาพ แต่ความอลหม่านของ Chaos Theory นั้นเป็นความอลหม่านที่ซ่อนอยู่ภายใน รอวันที่มีเหตุ ปัจจัยกระทั่ง “ความบังเอิญ” ที่เพียงพอ มันก็พร้อมจะปะทุเป็นความอลหม่านภายนอกได้ทันที

เมื่อพูดแบบนี้ หลายคนมักจะตีความว่าสังคมที่มีความไร้ระเบียบ คือสังคมแห่งกลียุค ที่จะนำมาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวาย หรือถึงขั้น

ล่มสลายกันไปเลยทีเดียว

แต่เพราะเรายึดมั่นในคำว่า เมื่อสงสัยให้ถาม’ ชัยวัฒน์จึงมานั่งอยู่กับเราเพื่อตอบคำถามมากมาย โดยไม่ต้องให้เรานั่งตีความเอง คิดเอง เออเอง

 

“ความไร้ระเบียบที่มีอยู่ในสังคมไทย ถึงขั้น The end of the world หรือเปล่า” คือหนึ่งในคำถามที่เราสงสัยมานานแล้ว แต่เขาจะตอบตอนไหน หรือตอบได้ไหมนี่สิ….

 Q : อาจารย์ช่วยอธิบาย ทฤษฎีไร้ระเบียบ อย่างง่ายๆ ได้ไหมคะว่ามันคืออะไร?

A : ถ้าพูดให้เข้าใจทฤษฎีไร้ระเบียบอย่างง่ายๆ ก็คือว่า การที่เรื่องราวทั้งหลายมาอยู่ในระบบ ที่ค่อนข้างอ่อนไหว ไร้เสถียรภาพ และซับช้อน โดยเฉพาะในภาวะที่เรียกว่า อ่อนไหวอย่างยิ่งหรือ super sensitive เหตุการณ์เล็กๆ ก็สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้โดยที่เราคาดไม่ถึง ทีนี้เรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ยังไง   ก็เพราะว่ามันมีกลไก ซึ่งที่เขาทำวิจัย กันมาเรียกว่า re – enforcing feedback loop

หรือที่บางคนเรียกว่า positive feedback loop

 

คือการปฏิสัมพันธ์ป้อนกลับไปในทิศทางเดียวกัน ที่เสริมกันมา เสริมกันไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าคุณโกรธผม คุณก็พูดกับผมแรงๆ ผมก็ตอบโต้คุณไปแรงๆ คุณก็ใช้ภาษาที่หนักขึ้นไปอีกกับผม ผมก็ใช้ภาษาที่หนักยิ่งขึ้นไปอีกกับคุณ พอพูดกันจนโกรธหนักๆ เข้า ก็กลายเป็นลงไม้ลงมือกันขึ้นมา

Q : เรื่องเล็กๆ อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีใครรู้?

A : ใช่ ที่ไม่มีใครรู้เพราะไม่มีใครใส่ใจเรื่องเล็กๆ มัวมองแต่เรื่องใหญ่ๆ เพราะวิธีคิดของเรามันคุ้นชินกับการคิดแบบเส้นตรง คิดแบบเครื่องจักรที่มองว่า เมื่อเหตุใหญ่ ผลก็ใหญ่เหตุเล็ก ผลก็เล็ก แต่ทฤษฎีไร้ระเบียบ เชื่อในวิธีคิดแบบ non linear thinking คือการคิดที่ไม่เป็นเส้นตรง เหตุเล็ก อาจจะเกิดเป็นเรื่องใหญ่ได้ เหตุใหญ่ ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องเล็กได้ 

 

โลก มันไม่ได้เป็นเรื่องของ 1+1 เป็น 2 แต่ 1+1 อาจจะเป็น 5 หรือ 0 ก็ได้ ไม่มีใครบอกได้ 

 

สิ่งที่ควรจะใส่ใจในทฤษฎีไร้ระเบียบก็คือ อย่ามองข้ามเรื่องเล็กๆ เพราะถ้ามันเกิดมีการปฏิสัมพันธ์ที่ป้อนกลับในทางบวกเพิ่มมากขึ้นเมื่อไหร่เหตุการณ์มันก็อาจจะบานปลายได้เสมอ อย่าลืมว่าถ้า 1+1 มันบวกกันกลับไปกลับมาเรื่อยๆ มันอาจจะกลายเป็นร้อยเป็นพัน แทนที่จะเป็น

2 เลยก็ได้

ทฤษฎีไร้ระเบียบ

 Q : ทฤษฎีนี้ขัดแย้งกับทฤษฎีอื่นๆ ไหมคะ ที่มีการทำนายที่เป็นรูปธรรม มีสถิติที่น่าเชื่อ ถือได้ และสามารถบอกได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

A : ขัดแย้งอยู่แล้ว เพราะมันเข้าใจยาก เราเคยคุ้นกับวิธีคิดแบบเก่าที่ว่าเหตุต้องเท่ากับผลและเชื่อว่าเมื่อคุณรู้เหตุปัจจัยทั้งหมดแล้ว คุณสามารถคำนวณผลออกมาได้เลย 

 

แต่คนที่ศึกษาเรื่อง Chaos จะโต้ว่า คุณไม่มีทางรู้ผลละเอียดทั้งหมดหรอก เพราะโลกมันซับซ้อนเกินไป มันมีปัจจัยตัวแปรมากมายที่เกิดขึ้นจนคุณไม่มีทางคำนวณผลที่เป็นจริงได้

Q: แต่ความที่โลกของเราหรือสังคมทุกวันนี้มีการ forecast ในเรื่องต่างๆ ตลอด ไม่ว่าจากนักอนาคตศาสตร์บ้าง หรือแม้แต่ทางเศรษฐศาสตร์ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ออกมาทำนายเศรษฐกิจออกมาเป็นกราฟ เป็น ตัวเลขกันมากมาย ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่จับต้องได้ด้วยซ้ำ

A : ผมก็เชื่อครับว่า บางเรื่องเราทำนายได้ แต่อย่าลืมว่าหลายเรื่องมันก็ทำนายไม่ได้

 

เหตุการณ์ที่เครื่องบินบินชนตึกเวิร์ลด์เทรดหรือ 9 – 11 ใครเคยทำนายไว้บ้างล่ะ? หรือมองย้อนกลับไปในอดีต การล่มสลายของระบบ สังคมนิยมก็ไม่มีใครเคยทำนายได้เลย ตอนนั้น ทุกคนคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ดีๆ ระบบ สังคมนิยมแบบโซเวียต หรือระบบสังคมนิยม ทั้งหมดในยุโรปตะวันออกจะล่มสลายโดยไม่มีกระสุนปืนลันแม้แต่นัดเดียวจากฝ่ายตะวันตกระบบมันพังของมันไปเอง 

 

นี่คือเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่ยกตัวอย่าง ว่าบางเรื่องเราก็ทำนายไม่ได้ แต่ก็เข้าใจละว่า มนุษย์พยายามที่จะทำนายเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะคนมักจะอยากรู้อนาคตตัวเอง ไม่อย่างนั้นหมอดูจะขายดีได้ยังไง

Q : แล้วอาจารย์เชื่อในการทำนายของนักเศรษฐศาสตร์ หรือ futuristic thinker ต่างๆ ไหม เพราะนักคิดต่าง ๆ ก็ออกมา

พูดถึงภาพในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้าในด้าน ต่างๆ กันเป็นแถว

เราก็ไม่ควรละเลยนะ ควรจะจับตาดู trend เอาไว้ แต่อย่าลืมว่า trend ต่างๆ มันไม่เคยนิ่ง มันจะมี counter trend เกิดเหมือนกัน เมื่อมี trend นี้ มันก็จะมีอีก trend มาปะทะเสมอเพียงแต่มันอาจจะซ่อนอยู่ แต่เรามองไม่ค่อยเห็น แต่ถ้าถามว่าแล้วนักคิดทั้งหลายควรจะทำนายไว้ไหม ก็ควรครับ เพราะทำให้เราเห็นภาพคร่าวๆ แต่ขณะเดียวกันก็อย่าไปยึดมั่นมัน100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันอาจจะมีอย่างอื่นที่เราคาดไม่ถึงเกิดขึ้นก็ได้

 

เคยมีใครทำนายไหมล่ะว่าวันนี้น้ำมันจะขึ้น

ถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โลกเราทุกวันนี้มีทั้งเรื่องที่ประเมินได้และประเมินไม่ได้ สิ่งที่เราควรทำก็คือต้องเปิดใจให้กว้างเข้าไว้ เราต้องมองเรื่องราวต่างๆ รอบตัวให้ละเอียดด้วยการใส่ใจมากขึ้น ผมคิดว่าคนเราต้องมี sensibility สูงขึ้นกว่าเดิม นี่คือเรื่องใหญ่ในโลกสมัยใหม่

 

วิธีการมองโลกของเราจะหยาบๆ ไม่ได้อีกแล้วเราต้องมองด้วยใจ ไม่ใช่มองด้วยสมอง การใช้ใจมองมันต้องการทั้งสัญชาติญาณ ทั้ง sense บางอย่าง มันไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์หรือเหตุผลอย่างเดียว ชีวิตมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์นะครับ

Q :สมมติเรื่องที่ใกล้ตัวคนไทยดีกว่า เช่น การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549  นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า ใครจะไปคิดว่ามันจะเกิด

ขึ้นหรือเปล่า?

A : ผมก็ไม่คิด เพราะการปฏิวัติมันพิสูจน์แล้ว ว่ามันไม่เคยได้ผล แล้วสมัยนี้ยังจะมีใครทำอีกแต่มันก็มีจนได้ เพราะมันเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าของไทย ผสมตัวแปรอีกหลายอย่าง ที่เราคาดไม่ถึง ต่อไปจะมีอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ทำนายยากนะ แต่รู้ว่า สถานการณ์บ้านเมืองเราตอนนี้มันมีความแตกต่างของสองความคิดในสังคมที่แรงมาก และที่ใดมีความแตกต่างกันในระบบที่ซับซ้อน มักจะเป็นโอกาสให้เกิดความโกลาหลได้สูงมาก 


ยกตัวอย่างเช่น เวลาจะเกิดพายุใหญ่ๆ คุณจะสังเกตเห็นว่า รอบบริเวณนั้นอุณหภูมิจะสูงมาก และเมื่ออากาศ ร้อนจัด ลมมันจะลอยขึ้นไปข้างบนพอเจออากาศเย็นด้านบนหมุนเข้ามา ร้อนกับเย็นก็มาปะทะกัน มันก็จะเกิดพายุ เปรียบกับสังคมเรา ก็เหมือนตอนนี้เรามีขั้ความคิดสองด้านที่ต่าง กันมาก และดูเหมือนจะไม่มีการประนีประนอม มันก็จะถึงจุดที่ชนกันจนได้ ส่วนการชนกันจะ รุนแรงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร มันก็ขึ้นกับ ตัวแปรตัวอื่นอีกที่จะเข้ามาจัดการเพื่อลดความรุนแรงลงหรือไม่