ทฤษฎีไร้ระเบียบกับซุนหวู่ โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

ทฤษฎีไร้ระเบียบกับซุนหวู่

โดย : ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

นักวิชาการหลายคนที่สนใจเรื่องระบบซับซ้อน (complex system) ได้แบ่งประเภทของความซับซ้อนไว้อย่างน่าสนใจว่า มันมีด้วยกัน 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ความซับซ้อนที่มีพลวัต (dynamic complexity) ความซับซ้อนทางสังคม (social complexity) และความซับซ้อนที่บานปลาย (generative complexity) 

ถ้าระบบใดที่ความซับซ้อนยังมีดีกรีต่ำ การแก้ปัญหาแบบวิธีเดิม ก็พอจะเอาตัวรอดได้ แต่ถ้าระบบใดที่มีความซับซ้อนสูงจนถึงขั้นสูงยิ่ง วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ได้ผลมาแล้ว เช่น วิธีการ “สั่งการและควบคุม” (command and control) จะไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะระบบที่มีความซับซ้อนสูงจะไม่ทำงานดุจดังเครื่องจักร ที่เดินไปเป็นเส้นตรง 

 และยิ่งความซับซ้อนทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมาปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและกัน ระบบมันจะเดินไม่ปกติ มันจะคดเคี้ยวพลิกผันได้ง่าย สถานการณ์และพฤติกรรมของระบบจะขึ้นๆ ลงๆ มีทิศทางที่คาดเดายาก ระบบใดก็ตามเมื่อเข้ามาอยู่ในสภาวะเช่นนี้จะเปราะบาง กระทบง่าย เรื่องเล็กๆ สามารถส่งผลกระทบปฏิกิริยาลูกโซ่ และมีการป้อนกลับกันไปมาเชิงยกกำลัง (reinforcing feedback) จนบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทฤษฎีไร้ระเบียบ หรือบางคนเรียกว่าทฤษฎีโกลาหล (chaos theory) ได้พูดเชิงอุปมา “ผลกระทบผีเสื้อ” (butterfly effect) 

ผลกระทบผีเสื้อนั้น คนไทยเราน่าจะยังจดจำกันได้ดี เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับสังคมไทยมาแล้ว 2 ครั้งในเวลาไม่ถึง 10 ปี

ครั้งแรกคือเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในกรุงเทพฯ แล้วเป็นโรคระบาดลามไปทั่วทั้งทวีปเอเชีย จนกระทบไปถึงทวีปอเมริกาใต้ที่ฝรั่งเรียกว่า “โรคระบาดต้มยำกุ้ง” เหตุการณ์เชิง “ผีเสื้อกระพือปีก” ครั้งที่สองก็เป็นกรณีที่หนังสือพิมพ์กัมพูชา อ้างว่า “น้องกบ” สุวนันท์ คงยิ่ง”  กล่าววาจาดูถูกคนกัมพูชา ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงคนไทยจนเกิดบานปลายถึงขั้นเผาสถานทูตไทย และกิจการร้านค้าของคนไทย จากเรื่องที่ไม่มีอะไรกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประเทศ

ทฤษฎีไร้ระเบียบเตือนให้เราคิดและทำด้วยจิตปัญญา (contemplative thinking) ให้มองเห็นภาพใหญ่ทั้งหมดของระบบ และตระหนักต่อสภาพอ่อนไหวเปราะบางของระบบ เมื่อมันเคลื่อนตัวไกลออกมาจากจุดสมดุล (far from equilibrium) ทฤษฎีไร้ระเบียบย้ำอย่างหนักแน่นว่าการจัดการกับสถานการณ์ที่อ่อนไหวยิ่งเช่นนี้ ไม่ควรใช้กำลังและความรุนแรงเข้าแก้ปัญหา เพราะจะยิ่งทำให้เรื่องราวเลวร้ายลงไปกว่าเดิมอีก

ทฤษฎีไร้ระเบียบกับซุนหวู่

ผมมีโอกาสได้อ่านบทความของ จิม จิเมียน (Jim Gimian) ที่เขียนลงในนิตยสาร Shambhala Sun ฉบับมกราคม 2544 เขาได้ตีความตำราพิชัยสงครามซุนหวู่ไว้อย่างน่าสนใจ และผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์สังคม และการเมือง ที่เปราะบาง กระทบง่าย ณ เวลานี้

ซุนหวู่ได้ย้ำชัยชนะที่ยิ่งใหญ่โดยไม่ต้องทำสงคราม ซึ่งหมายถึงการเอาชนะความขัดแย้งโดยไม่ต้องใช้กำลังนั่นเอง จิมพูดว่า จะทำเช่นนี้ได้ต้อง  taking whole หรือหมายถึงต้องคิดเป็นองค์รวม ต้องเห็นภาพใหญ่ทั้งหมด คือ เห็นทั้งตัวเรา เห็นคู่ต่อสู้และเห็น “ฟ้า” คือสภาพที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เป็นอิทธิพลที่เราทำอะไรไม่ได้ แต่เราอาจจะมีญาณทัศน์ (intuition) พอจะสัมผัสได้บางๆ (sense) ว่าจะเป็นอย่างไร หรือไปทิศใด

ขณะเดียวกันเมื่อรู้ฟ้าแล้ว ก็ต้องรู้ดิน ดินคือสภาพการณ์หรือสถานการณ์ที่เป็นจริงในเวลานี้ ว่าเป็นอย่างไร เราและคู่ต่อสู้ยืนอยู่ตรงไหน และอย่างไร ดินหรือสถานการณ์เองก็ไม่ได้นิ่ง มันเคลื่อนตัวไปมา เราจำเป็นต้องตระหนักต่อสภาวะดังกล่าวตลอดเวลา ข่าวสารข้อมูลที่แม่นยำเป็นสิ่งจำเป็น ผู้นำจะต้องมีอารมณ์สงบ รักษาความแจ่มชัดในการพินิจพิจารณาตลอดเวลา สายตาต้องไม่ฝ้ามัวด้วยความโกรธหรือมิจฉาทิฐิ

จิมพูดถึงศิลปะของซุนหวู่ในการทำงานกับความปั่นป่วนและไร้ระเบียบ (chaos) ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ “แก่นแท้ของการยุทธ์ และชีวิตที่แท้จริงมักจะทำนายให้แม่นยำได้ยาก มันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและสับสนวุ่นวาย ความไร้ระเบียบมันเกิดขึ้นเมื่อกติกาเก่า กฎเกณฑ์เก่า และระบอบเก่ากำลังจะหมดสภาพ แต่ระเบียบใหม่ กติกาใหม่ และระบอบใหม่ก็ยังไม่ทันเกิด มันเป็นห้วงเวลาที่ไม่มีอะไรแน่ และเป็นอันตรายเมื่อสรรพสิ่งที่ดูแข็งแกร่งได้แตกลงเป็นเสี่ยง

ผู้นำที่ชาญฉลาดจะไม่หวั่นไหวกับความปั่นป่วน เขายังสงบเยือกเย็นเพราะเห็นภาพรวม เพราะท่ามกลางความปั่นป่วนสับสนนี้เขาได้เห็นร่องรอยของระบบที่กำลังฟอร์มตัวขึ้นมา ดังเช่นท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวายของพายุเฮอร์ริเคนที่เคลื่อนตัวแถบชายฝั่งดูเสมือนทำนายยาก เราสามารถมองเห็นรูปร่าง (pattern) ของมันได้ 

ความไร้ระเบียบกับความเป็นระเบียบจึงเป็นสองด้านของเหรียญ ทั้งสองส่วนนี้แหละประสบการณ์องค์รวมของเรา เราเห็นความดีและความชั่ว เห็นความไม่เป็นธรรมกับความยุติธรรม เห็นทั้งความสับสนและความแจ่มชัด รู้ว่าทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันและกันและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“ความไร้ระเบียบเกิดจากความมีระเบียบความกลัวเกิดจากความกล้าความอ่อนแอเกิดจากความเข้มแข็ง”

ห้วงเวลาที่มีความไร้ระเบียบเกิดขึ้นมักเป็นช่วงที่มีความยากลำบากและทุกข์ใจ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นห้วงเวลาที่มีพลวัต เป็นเวลาของการเปิดกว้างครั้งใหญ่ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น มันเป็นโอกาสของการสร้างสรรค์ ผู้นำที่ฉลาดต้องมองทะลุเรื่องนี้ เห็นศักยภาพของสรรพสิ่งที่กำลังก่อตัวแล้วชื่นชมมัน เพราะเขาไม่หุยดนิ่งอยู่กับที่ ทำตัวได้เสมือนน้ำ ความไร้ระเบียบจึงไม่ได้เป็นภัยคุกคามเขา

เมื่อความไร้ระเบียบคือห้วงเวลาที่มีพลานุภาพ เขาจึงรู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ เขาจึงไม่ด่วนลงมือปฏิบัติการ เมื่อมันยังไม่สุกงอม เขารู้จักรอคอยอย่างสงบ รอคอยจังหวะที่จะใช้ “พลังฉี” แม้มันจะไม่มากแต่พลิกสถานการณ์ได้ ผู้นำจะต้องไม่คลาดสายตาจากภาพรวม ไม่ปล่อยให้ “เฉพาะส่วน” ที่มาทำลาย “ส่วนใหญ่” เขาจึงฝึกฝนตนเองให้มีความลุ่มลึกในวิธีพิจารณา มีสติ และปล่อยวางพฤติกรรมเดิมๆ เขาเห็นทั้งหมด เห็น “ฟ้า” เห็น “ดิน” เห็นคู่ต่อสู้ และเห็นตนเองทั้งอารมณ์ความรู้สึก จิตใจ ทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของตนโดยไม่เข้าข้างตนเอง

สังคมไทยได้ก้าวมาถึงจุดที่มีความเป็นไปได้ทุกอย่าง เรามองเห็นการฟอร์มตัวของสิ่งใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่หลังเมฆดำทะมึนหรือไม่ ว่ายังมีดวงสุริยานับพันดวงที่กำลังรอจะฉายแสงออกมา Scott Peck ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า A World is Waiting to Be Born เราตระหนักกันไหมว่า “สังคมไทยที่มีพลังเข้มแข็งของพลเมืองกำลังรอที่จะผุดบังเกิด”

พวกเราทุกคนคือผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลง การเป็นผู้นำที่แท้คือทำสิ่งที่ดีให้เป็นจริง เวลาของผู้นำยุคใหม่มาถึงแล้ว เพราะท่ามกลางความไร้ระเบียบนี่แหละ คือโอกาสที่ระบบที่เราปรารถนากำลังก่อรูป

เห็นหน่ออ่อนอันงดงามมีวุฒิภาวะของเยาวชนเพื่อประชาธิปไตยไหม ?

ทำไมเราคนไทยจึงไม่ช่วยกันให้ความใฝ่ฝันอันดีงามของเด็กๆ เหล่านี้ได้เป็นจริง

ดูภาพใหญ่ที่เป็นอนาคตของชาติเราไว้ ให้แจ่มชัด รักษาอารมณ์ความรู้สึกและความกล้าหาญในการก้าวข้ามกรอบเดิมๆ ให้ดี อีกไม่นานวันเราจะสู่ “ภพใหม่” ของสังคมพลเมืองกันแล้ว

บทความโดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์  ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3775 (2975)