เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลงใหม่ๆ ป้อมค่ายทางเศรษฐกิจและการเมืองได้มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน ฟากหนึ่งเป็นโลกทุนนิยมที่สหรัฐอเมริกาเป็นพี่เอื้อย ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นโลกสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนและสาธารณรัฐประชาชนจีน
ณ เวลานั้นสามารถจำแนกมิตรและศัตรูกันได้ชัดเจน ถึงแม้จะมีกลุ่มไม่ฝักฝ่ายค่ายใดอยู่ประมาณ 30 ประเทศที่ขออยู่ตรงกลางไม่เป็นพวกใครเต็มตัวเป็นเกาะเล็กๆ ท่ามกลางทะเลแห่งการต่อสู้อย่างดุเดือดทางอุดมการณ์สองลัทธิ
การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต จะไม่ลดละให้แก่ฝ่ายใดสักนิ้วเดียว สองอภิมหาอำนาจไม่ยอมให้มีการเพลี่ยงพล้ำดุลแห่งกำลังเป็นอันขาด เพราะการไม่คานกำลังกันโดยเฉพาะด้านกำลังอาวุธมันจะกลายเป็นการคุกคามความมั่นคงของแต่ละอภิมหาอำนาจ
พูดง่ายๆ เมื่อตาชั่งแห่งแสนยานุภาพทางทหาร เอียงไปข้างใดเกินไป โลกจะไม่มั่นคงทันที ในห้วงเวลาตั้งแต่พุทธศักราช 2488 ถึง 2533 แม้จะมีสงครามตัวแทนและสงครามเพื่อเอกราชประชาธิปไตยในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่โลกก็ยังมีเสถียรภาพอยู่ เพราะแต่ละอภิมหาอำนาจรู้ดีว่า “เส้นแบ่งเสถียรภาพ” นั้นอยู่ตรงจุดใด และไม่ควรล้ำเส้นนี้ออกไป
มันเป็นโลกที่ดูเหมือนอันตราย แต่แก่นแท้แล้วมีเสถียรภาพมั่นคง เพราะมันตรรกะที่ชัดเจน มองเห็น “เส้น” ชัดเจนแต่ละฝ่ายสามารถคำนวณและหยั่งเชิงกันได้ ไม่ให้ “ออกนอกกรอบ” แห่งดุลกำลัง ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าตนเองต้องเล่นตามกฎและกติกา เพื่อจะได้ไม่ปล่อยให้เรื่องเล็กๆ ความไม่เข้าใจกันหรือความเข้าใจผิดเล็กน้อย (ดังกรณีคิวบาในปี 2505 เกิดขึ้นอีก) มาทำให้เรื่องบานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งพินาศย่อยยับกันทั้งคู่ มันเป็นโลกที่มีความชัดเจน และ “เป็นระเบียบ”
การพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532 โลกที่แบ่งค่ายและโลกที่ต่อสู้ กันทางเศรษฐกิจและการเมือง มีแสนยานุภาพที่ทำลายกันให้อีกฝ่ายย่อยยับนั้นได้สิ้นสุดลง มันกลายเป็นโลกใบเดียวทั้งทางกายภาพ ทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งถูกเสริมการพึ่งพากันและกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยสายใยเครือข่ายของการติดต่อสื่อสารและสารสนเทศ โลกไร้พรมแดนที่มีเสถียรภาพและศานติ ดังเพลง Imagine ของจอห์น เลนนอน ส่อแววว่าจะเป็นความจริง
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองในเมื่อสหภาพโซเวียตและบริวารสังคมนิยม อันเป็นศัตรูสำคัญของระบบทุนนิยมเสรีได้ล้มครืนลงไปแล้ว จะมีใครหน้าไหนมาบังอาจตั้งตัวเป็นคู่ต่อสู้ของอภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ มันมองไม่เห็นอันตรายที่จะคุกคามความสงบและเสถียรภาพของโลกได้เลย
จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอันใดเลยเมื่อสหรัฐอเมริกาปราบกองทัพของซัดดัม ฮุสเซน ในสงครามที่ชื่อว่า “พายุทะเลทราย” ได้สำเร็จด้วยความเหนือกว่าหลายขุมของอาวุธเทคโนโลยี เมื่อเสียเวลาเพียงประมาณ 3 สัปดาห์และทหารอเมริกันเสียชีวิตเพียงไม่กี่สิบคน ย่อมทำให้ประธานาธิบดีบุช (ผู้พ่อ) ประกาศอย่างมั่นใจเต็มเปี่ยมเกินร้อยว่า “เรากำลังจัดระเบียบโลกใหม่” โดยผู้นำอเมริกันคิดว่าเขาสามารถควบคุมโลกให้เดินไปตามเส้นทางที่วอชิงตันกำหนดไว้ได้โดยไม่มีการหักเหออกจากทิศทางที่วอชิงตันกำหนดไว้
แต่โลกที่เป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ สหรัฐอเมริกาแม้จะมีอำนาจทางการเมือง ทางการทหารและทางวัฒนธรรมก็ไม่สามารถสนตะพายโลกแล้วจูงไปตามเส้นทางที่ตนเองปรารถนาได้
มันมีปัจจัยตัวแปรต่างๆ ที่สำคัญ เช่น digitalization, individualization ของโลก ซึ่งได้มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปมาของเหตุการณ์ด้านต่างๆ ที่ก่อกำเนิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง จนทำให้นักวิชาการในสาขาต่างๆ หันมาศึกษาค้นคว้าโลกที่สลับซับซ้อนยุ่งเหยิงไร้ระเบียบ เพื่อรับมือในการอยู่กับโลกที่วุ่นวายนี้ให้ได้
ในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมไซเบอร์เนติกทางเศรษฐศาสตร์และสังคม เมื่อวันที่
4-5 ตุลาคม 2534 ที่เมืองอาเชน (Aachen) ประเทศเยอรมนี ศาสตราจารย์ไฮโย ริกมันน์ (Heijo Rieckmann) แห่งสถาบันเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคลาเก้นเฟิร์ต (Klagenfurt) ประเทศออสเตรีย ได้พูดประโยคสำคัญในการสัมมนาทางวิชาการดังนี้ “เราได้ก่อสร้างโลกที่ซับซ้อน อ่อนไหวและตื่นตระหนกง่ายขึ้นมาแล้ว”
ศาสตราจารย์ไฮโยมองเห็นว่า “เรายิ่งมีอำนาจทางเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าใด อำนาจในการควบคุมยิ่งลดลงไปเท่านั้น และความเสี่ยงยิ่งสูงเพิ่มเป็นเงาตามตัวด้วย” ความอหังการของมนุษย์ ซึ่งมีกระบวนทัศน์เก่าครอบงำอยู่กว่า 200 ปีที่มองเห็นโลกเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่เราสามารถควบคุมระบบการทำงานของมัน ให้เดินไปตามตรรกะของเหตุและผลที่เป็นเชิงเส้นกำลังคลอนแคลนอย่างถึงรากถึงโคน
ชาร์ลส์ แฮนดี้ (Charles Handy) ชาวอังกฤษผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์แห่งการบริหารจัดการ” ได้เขียนถึงโลกที่ขัดแย้ง และสวนทางกัน หรือโลกปฏิทรรศน์ (world of paradox) ไว้ในหนังสือ “คิดใหม่เพื่ออนาคต” (Rethink the Future) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2540 เขาให้ทรรศนะว่าเราจำเป็นต้องมี “สัมผัสใหม่” เพื่อเอาตัวให้รอดในโลกที่เป็นอนิจจัง
ในบทความ “ค้นหาญาณในความไม่แน่นอน” (Finding Sense in Uncertainty) ชาร์ลส แฮนดี้ ย้ำว่า “เรามีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาที่สับสนยิ่ง เพราะเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่ก่อกำเนิดโครงสร้างแห่งชีวิตของเรานั้นได้ปลาสนาการไปแล้ว อนาคตข้างหน้าไม่มีใครมากำหนดมันเป็นไปได้ตายตัว แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ยังพูดถึงผลกระทบผีเสื้อ ซึ่งเรื่องเล็กๆ สามารถสร้างผลสะเทือนใหญ่บานปลายอย่างไม่มีใครคาดถึงได้ ดูไปแล้วมันเป็นเรื่องน่าห่วงเพราะเรากำลังอยู่ในช่วงของความยากลำบาก โลกไม่มีเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบอีกต่อไป
แต่ถ้ามองจากอีกมุมหนึ่งของโลกปฏิทรรศน์ในความไม่แน่นอนมันก็เป็นโอกาสของการเกิดสิ่งใหม่ที่เราสามารถทำให้มันแตกต่างออกไปจากเดิมได้ หนทางสำคัญในการสร้างอนาคตให้แก่ตัวเราเอง ให้แก่องค์กรและสังคมนั้น มันไม่ได้อยู่กับใครที่ไหน มันอยู่ที่ตัวของเราเอง”
เราคงไม่ต้องอ้างนักวิชาการ หรือนักวิทยาศาสตร์คนใดมาเป็นหลักฐานยืนยันว่าโลกมันวุ่นวาย ไร้ระเบียบ ปั่นป่วน และเปลี่ยนแปลงฉับพลันอย่างคาดไม่ถึง เพราะเหตุการณ์ เช่น การถล่มตึกเวิรลด์เทรดฯ ในกรุงนิวยอร์กของคนในเครือข่ายของบินลาเดนเมื่อเดือนกันยายน 2544 การแพร่ระบาดของโรคซาร์ส และโรคระบาดไข้หวัดนกในทวีปเอเชีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนในที่ต่างๆ รวมไปถึงการระบาดของระเบิดพลีชีพและกิจการร้ายในทุกทวีป
สิ่งเหล่านี้คนไทยเคยได้ดูได้ฟังจากโทรทัศน์ วิทยุ และอ่านในหนังสือพิมพ์ แต่บัดนี้มันได้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเราแล้ว จากเหตุร้ายรายวันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาสู่การวางระเบิดที่สนามบินหาดใหญ่และโรงแรมในจังหวัดสงขลา มันล้วนเป็นประจักษ์พยานของอันตรายอันมาจากความรุนแรงต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเราคิดว่ามัน จะเกิดกับประเทศอื่น ความรุนแรงดังกล่าวเรา ไม่เคยอยู่ในจินตนาการมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
ในโลกใบเดียวที่เชื่อมโยงกันราวเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ผลกระทบมันวิ่งถึงกันเร็วจี๋ ดูกรณีคลื่นยักษ์สึนามิที่ก่อตัวที่อินโดนีเซียกวาดล้างชีวิตผู้คนนับแสน ยังกระทบมาถึงความตายของคนหลายพันคนในฝั่งทะเลอันดามันของไทยได้
ประโยคที่ว่า “มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย มันมีแต่ในประเทศอื่น… มันคงจะไม่เกิดขึ้นกับเรา” จะนำมาใช้ไม่ได้อีกต่อไป
คัดจาก www.matichon.co.th
บทความพิเศษ โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์