การถอดบทเรียน : ศิลปะแห่งการเก็บเกี่ยว

(คัดลอกความบางตอนมาจาก คู่มือหลักสูตรการเรียนรู้นักปฏิบัติการทางสังคมและสุขภาวะ ผู้นำที่แท้แห่งศตวรรษที่ 21 
โดย อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์) 

อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ มักกล่าวเสมอว่า หลังจากที่เราทำงานแล้ว เราเคยสรุปบทเรียนและเรียนรู้จากปฏิบัติการของเราหรือไม่ อย่างไร เราเรียนรู้อะไรจากการงานบ้าง (ที่เราหว่านลงไปแล้ว) 

เคิร์ท ตูชอลสกี้ (Kurt Tucholsky) นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนเยอรมัน เชื้อสายยิว เคยกล่าวว่า ประสบการณ์นะเหรอไม่เห็นมีอะไร บางคนทำผิดซ้ำซากเป็น 20 ปี 

คนมีประสบการณ์มากมายอาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไร ทำเรื่องเดิม ความผิดเดิมๆ ซ้ำซาก ดูตัวอย่างชาวนาไทย ที่ไม่อยากให้ลูกเป็นชาวนา เพราะตนเองอยู่กับความเจ็บปวด ยากจน ทุกข์มายาวนาน แต่ก็ยังอยู่กับทุกข์ที่เดิม แม้จะมีประสบการณ์ความทุกข์มายาวนานเป็นสิบๆ ปีก็ตาม เพราะเหตุใด

 

.. แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ส่วนมากก็เป็นเรื่องที่ชาวนาไม่ให้เวลาครุ่นคิดใคร่ครวญ ตั้งคำถามเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตน ประสบการณ์จึงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าไม่เรียนรู้  อาจารย์ชัยวัฒน์ย้ำ

เราไม่ได้เรียนจากประสบการณ์ แต่เรียนจากสมรรถนะในการมีประสบการณ์ เป็นคำพูดที่มี ผู้อ้างว่า มาจากพระพุทธองค์ (ภาษาอังกฤษใช้ว่า “We do not learn by experience, but learn by the capacity to experience.”) 

สมรรถนะในการมีประสบการณ์ เป็นอย่างไร? 

วงจรเรียนรู้อย่างลึกซึ้งเป็นการพัฒนาสมรรถนะในการมีประสบการณ์ เวลาถอดประสบการณ์ เราใช้อะไรไปถอดบทเรียนสภาวะภายในใช่หรือไม่ สติ สมาธิ การครุ่นคิด 

สภาวะภายในจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการถอดบทเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกสมัยใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วฉวัดเฉวียน สิ่งที่สำเร็จในยุคหนึ่งไม่จำเป็นว่าใช้ได้เสมอไป การยึดติดกับกรอบประสบการณ์เดิมที่เคยสำเร็จ ใช้ไม่ได้ การเรียนรู้จากสมรรถนะในการมีประสบการณ์ที่ผันแปรไปเรื่อย จึงมีความหมายและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะอยู่ในโลกแห่งความพลิกผันได้ 

การเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน แต่อยู่ในทุกก้าวของชีวิต รวมถึงในการทำงาน เมื่อเราเรียนรู้ (ในการทำงาน) จิตต้องอยู่ในปัจจุบันขณะ สังเกตเห็นเรื่องราวต่าง นำความรู้มาอยู่ในการปฏิบัติ (งาน)  

การถอดบทเรียนเป็นหนึ่งข้อในธรรมสู่ความสำเร็จ คือ อิทธิบาท 4 อันประกอบด้วย ฉันทะ คือ ใจรักชอบในการงานนั้น เมื่อเรามีความรักในสิ่งใด สายตาก็จะมองในสิ่งนั้น อยากรู้ อยากค้นหาเข้าใจ จิตนุ่มนวล เห็นรายละเอียด คือ จิตตะ (ใส่ใจ จดจ่อ) ความรักทำให้เห็นรายละเอียด เมื่อเราใส่ใจ เราจะเห็นมากกว่าธรรมดา ความพากเพียร คือ วิริยะ ก็จะตามมา เพราะเราจะอยากทำให้ดีขึ้นไปเรื่อย ส่วน วิมังสา คือ การค้นคว้า ทดลอง ถอดบทเรียนจากปฏิบัติการที่ทำไป 

After Action Review (AAR) เพื่อใช้ในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ 

อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เล่าว่า กระบวนการถอดบทเรียนที่ปัจจุบัน องค์กร สถาบันต่างๆ นำมาใช้ มีต้นกำเนิดมาจาก นายพล ฮัล มัวร์ แห่งสหรัฐอเมริกา (ได้เลื่อนยศเป็น นายพล ภายหลังจากสงคราม) 

 สมัยสงครามเวียดนาม ช่วงหนึ่งกองทัพเวียดนามเปลี่ยนกลยุทธการรบ จากการรบแบบจรยุทธ์มาเป็นการรบเต็มรูปแบบ ซึ่งโดยปกติแล้ว กองทัพที่มีกำลังด้อยกว่า ยุทโธปกรณ์ไม่พร้อม จะไม่เลือกทำการรบเต็มรูปแบบ แต่เวลานั้น กองทัพเวียดนามอยากทดลองกำลังของตนและเช็คความสามารถทหารของตน เลยเลือกที่จะรบแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นการทดลองที่สูญเสียทหารเวียดกงหลายหมื่นคน แม้กระนั้น ทหารอเมริกันเองก็สูญเสียมากเช่นกัน เพราะคาดไม่ถึงว่า ทหารเวียดกงจะรบเต็มรูปแบบ 

ในเวลาเช่นนั้น กองทัพสหรัฐส่งนายพันฮัล มัวร์ (ยศนายพัน ในตอนนั้น) ถูกส่งไปรบ กับทหาร 1 กองพัน มาคุมพื้นที่สำคัญที่ ลาดรัง เพื่อตรึงกำลังไว้ก่อน จนกว่าจะมีทัพเสริมมาหนุน 

ก่อนขึ้นเครื่องบินรบไปเวียดนาม นายพัน ฮัล มัวร์เรียกประชุมหน่วยทหารแล้วพูดกับทุกคนว่าผมจะพาทุกคนกลับบ้าน ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่ 

เมื่อกองพันนี้ถูกปล่อยตัวลงในสนามรบได้สัก 2-3 ชั่วโมง ก็ถูกระดมยิงจากทุกทิศทาง ทหารอเมริกันตายเป็นร้อย นายพันฮัล มัวร์เห็นว่า หากปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ เขาจะไม่อาจรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับทหารของเขาได้ เพราะตัวเขาเองก็จะตายไปด้วยหรือตายกันทั้งหมด 

นายพันฮัล มัวร์ จึงขอเวลาครุ่นคิด ทบทวนเรื่องราวทั้งหมด เพื่อรับมือสถานการณ์ โดยให้นายทหารจำนวนหนึ่งไปตรึงกำลังไว้ อย่าให้ฝ่ายศัตรูเข้ามาได้ แล้วเชิญ นายร้อย ผู้บังคับหมู่ ผู้บังคับหมวด มานั่งประชุมกัน เพื่อจะสรุปบทเรียนและวางแผนการรบใหม่ เพื่อเอาตัวเองให้รอด ระหว่างที่รอกำลังหนุนเข้ามาช่วย 

คำถามง่าย 3 ข้อ ที่ที่ประชุมในสถานการณ์รบ คือ 

  1. What happened? มันเกิดอะไรขึ้น 
  2. What could be? มันอาจจะเกิดอะไรขึ้นอีก มองความเป็นไปได้ต่าง  
  3. What should be? เราอยากให้เป็นอย่างไร 

คำถามเหล่านี้ดูจะเป็นคำถามง่ายๆ แต่ความหมายที่แท้อยู่ที่การครุ่นคำนึง คุณภาพในการครุ่นคิด การเห็น การตีความ เห็นรายละเอียดและประเมินสถานการณ์ คือ คุณภาพของคำตอบ 

จากการถอดบทเรียนครั้งนั้น นายพันฮัล มัวร์ สามารถตรึงกำลังไว้จนกองทัพส่งกำลังพลมาหนุนได้ เราจะเห็นว่า ความเป็นตัวตนของมนุษย์ (being) เกี่ยวข้องกับความคิด ความเห็น การกระทำของคน ตัวตนของแต่ละคนจะแสดงออกมาในยามคับขันเสมอ นายพลฮัล มัวร์ เป็นคอทอลิกที่เคร่งศาสนา เขาเข้าโบสถ์ตั้งแต่ยังเด็ก มีความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า และเห็นตัวเองว่าเป็น ผู้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า นี่คือรากฐานของความคิด ความเชื่อ ตัวตนของเขา ซึ่งทำให้เขามีวิธีพูด วิธีมองโลก และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เผชิญ 

ภายหลัง ทหารอเมริกันก็นำกระบวนการ AAR นี้ไปใช้ในการรบต่างๆ กองทัพไทยและสถาบันองค์กรต่าง ในเมืองไทยก็เอามาใช้เช่นกัน แต่เรายังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะหัวใจของกระบวนการนี้ คือ คุณภาพในการเห็นรายละเอียดของเรื่องราว คุณภาพการครุ่นคิดลึกๆ ซึ่งเรายังทำได้ไม่ดีพอ 

ภายหลัง ทหารอเมริกันก็นำกระบวนการ AAR นี้ไปใช้ในการรบต่างๆ กองทัพไทยและสถาบันองค์กรต่าง ในเมืองไทยก็เอามาใช้เช่นกัน แต่เรายังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะหัวใจของกระบวนการนี้ คือ คุณภาพในการเห็นรายละเอียดของเรื่องราว คุณภาพการครุ่นคิดลึกๆ ซึ่งเรายังทำได้ไม่ดีพอ 

สำหรับนักทำงานทางสังคม งานที่เราทำไม่ใช่เรื่องความเป็นความตายแบบฉับพลันทันใดอย่างการสงคราม อีกทั้งงานทางสังคมก็ซับซ้อน อาศัยเวลากว่าจะเห็นผล เราจะถอดบทเรียนอย่างไร เพื่อปรับวิธีการ ของเราให้ทันกาล เราควรต้องไวในการจับสัญญาณ จับชีพจรทางสังคมให้เร็ว ซึ่งหมายความว่า บางครั้ง เราต้องถอดหรือวางความเชื่อกว่าๆ บ้าง เพราะความเชื่อ ความรู้ หรือทฤษฎีเก่าๆ บางทีตามไม่ทันสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เข้ามา ดังนั้น จึงสำคัญ ที่เราต้องฝึกสังเกตเห็นสิ่งใหม่ตลอดเวลา